สัปดาห์เดือดโทรคมนาคมชี้ชะตาทรูดีแทค-JASIF พิชญ์ พร้อมขาย ผู้ถือหน่วยเกี่ยงลดค่าเช่า

Published on 2022-10-17   By ข่าวหุ้น

จับตาสัปดาห์นี้ธุรกิจโทรคมนาคมเดือด! เกมตัดสินชะตาชีวิต 2 ขั้วอำนาจใหญ่ธุรกิจสื่อสาร เริ่มจาก 18 ต.ค.ลุ้นระทึกผู้ถือหน่วย JASIF นัดโหวตเปลี่ยนสปอนเซอร์ใหม่จาก JAS เป็น ADVANC หรือไม่ ฟาก “พิชญ์” พร้อมขายเต็มที่ โหวตไฟเขียวกว่า 97% ส่วนผู้ถือหน่วยรายย่อยบางกลุ่มไม่เห็นด้วยเรื่องลดค่าเช่าฯ ตามด้วย 20 ต.ค. กสทช.นัดชี้ขาด TRUE ควบกิจการ DTAC หลังใช้เวลากว่า 7 เดือน ขณะที่ “ทรู-ดีแทค” ยื่นจดหมายขู่ฟ้องหากกสทช.ขวางควบรวมกิจการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์นี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรคมนาคมครั้งใหญ่ ทั้งธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นช่วงสัปดาห์นี้ เริ่มจากกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยวันที่ 18 ต.ค. 2565 เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอยกเลิกและแก้ไขสัญญาของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB (ผู้ให้บริการ 3BB) ทั้งหมด และ JASIF สัดส่วน 19% มูลค่ารวมกว่า 32,000 ล้านบาท จากบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหน่วย JASIF หลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น JAS ไปก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันที่ 20 ต.ค. 2565 จะมีการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หลังจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัทมีมติเห็นชอบให้ควบรวมกิจการไปแล้ว และกสทช.ใช้เวลาพิจารณากว่า 7 เดือน

นับตั้งแต่คณะกรรมการกสทช.เริ่มเข้าทำงาน 20 เม.ย. 2565 เริ่มมีการปะชุมนัดแรก 27 เม.ย. 2565 เพื่อวางโรดแมปพิจารณาดีลควบรวม พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่าย ถัดมา 3 ส.ค. 2565 ประชุมบอร์ดกสทช.แต่เลื่อนพิจารณาดีลควบรวมออกไป เนื่องจากรอผลวิเคราะห์เพิ่มเติม จากนั้น 10 ส.ค. 2565 พิจารณาข้อสรุปของคณะอนุกรรมการแต่เลื่อนพิจารณาเพื่อขอประเมินการผูกขาด จนมาถึง 14 ก.ย. 2565 เลื่อนพิจารณาอีกครั้งเนื่องจากต้องรอผลตีความอำนาจจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้น 21 ก.ย. 2565 รับทราบความเห็นกฤษฎีกา และนัดพิจารณา 12 ต.ค. 2565 แต่ต้องรอผลศึกษาจากที่ปรึกษาจากต่างประเทศ จึงประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาดีลควบรวมวันที่ 20 ต.ค. 2565 ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลื่อนพิจารณาของกสทช.มีความเชื่อมโยงหรือพยายามให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาดีลควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ให้เกิดขึ้นภายหลังการประชุมผู้ถือหน่วย JASIF เพื่อพิจารณาให้ ADVANC เข้าซื้อ 3BB และ JASIF เสร็จสิ้นก่อนอย่างไรหรือไม่

ประเด็นดังกล่าวถูกประเมินได้หลายสมมติฐาน เริ่มจากกรณีแรก ทั้งดีล ADVANC เข้าซื้อ 3BB และ JASIF กับดีล TRUE ควบ DTAC ผ่านฉลุยทั้งคู่ กรณีที่สองดีล ADVANC เข้าซื้อ 3BB และ JASIF ผ่านฉลุย แต่ดีล TRUE ควบ DTAC ไม่ผ่าน กรณีที่สาม ดีล ADVANC เข้าซื้อ 3BB และ JASIF ไม่ผ่าน แต่ดีล TRUE ควบ DTAC ผ่านฉลุย และกรณีที่สี่ทั้ง 2 ดีลไม่ผ่านทั้งคู่ อย่างไรก็ดีผลสรุปจะอยู่ในเงื่อนไข 2 ช่วงดังกล่าว

18 ต.ค. ชี้ชะตาสปอนเซอร์ JASIF ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันอังคารที่ 18 ต.ค. 2565 (เวลา 13.00 น.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วย เพื่อลงมติให้ JAS ขายหน่วยลงทุนใน JASIF จำนวน 1,520 ล้านหน่วย คิดเป็น 19% ให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เรส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) (บริษัทย่อย ADVANC) พร้อมกับวาระที่ AWN ขอแก้ไขข้อห้ามการแข่งขันกับกองทุนรวมหรือเรื่องอื่น ๆ ภายใต้สัญญาข้อตกลงดำเนินการ เนื่องจากว่า AWN ได้เข้าทำธุรกิจบรอดแบนด์หรือเน็ตบ้านเช่นเดียวกับ TTTBBตั้งแต่ปี 2558

ตามมาด้วยวาระที่ AWN ขอแก้ไขรายละเอียดการเช่าและค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสง และยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่า และสัญญาให้บริการจัดหาผู้เช่าทรัพย์สิน และการเพิ่มค่าเช่าล่วงหน้าที่ TTTBB ตกลงชำระให้กองทุนรวม และวาระที่ AWN ขอพิจารณาอนุมัติผ่อนผันและ/หรือแก้ไข รายละเอียดบางประการที่เกี่ยวข้องกับสัญญาต่าง ๆ

ล่าสุดมีการประเมินกันว่า การลงมติน่าจะก้ำกึ่งกันอยู่ระหว่างกลุ่มผู้ถือหน่วยที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับเฉลี่ยต่อปีปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันพบว่าสัดส่วนนักลงทุนสถาบันและส่วนของ JAS ถือกองทุน JASIF ประมาณ 40% (JAS ถืออยู่ 19% แต่ไม่สามารถโหวตได้) และส่วนนักลงทุนรายย่อย 60% โดยจะต้องโหวตผ่านด้วยคะแนน 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุม

ที่ผ่านมา ADVANC ในนาม AWN มีความพยายามนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF เพื่อขอมติอนุมัติเข้าทำรายการดังกล่าว หลังผู้ถือหน่วยรายย่อยบางกลุ่มไม่เห็นด้วยเรื่องการยกเลิกสัญญาประกันรายได้และปรับลดค่าเช่า ด้วยการให้ข้อมูลเรื่องรายได้จากสัญญาประกันรายได้ที่คิดเป็น 30% ของรายได้ โดยสัญญาหลักมีรายได้จำนวน 7,000 ล้านบาทต่อปี และสัญญารับประกันรายได้เป็นเงิน 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตรงนี้ AWN ชดเชยให้ด้วยการต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 6 ปี หรือสิ้นสุดปี 2580 จากเดิมสิ้นสุดปี 2575 และจากการขยายเวลาเช่า ผู้ถือหน่วยกองทุนรวม JASIF จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม จากเดิมจะได้เงินปันผลต่อหน่วย (Dividend per Unit : DPU) เพิ่มขึ้นเป็น 9.15 บาทต่อหน่วย จากเดิม 7.54 บาทต่อหน่วย และ Net Present Value เพิ่มเป็น 5.76 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.5 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ AWN เสนอจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 3 ปี ปีละ 1,000 ล้านบาท รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะนำไปเป็นเงินลดทุน ไม่ใช่รายได้ จะทำให้ผู้ถือหน่วยได้รับเงินกลับไปอีก 0.13 บาทต่อหน่วย อีกทั้งเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวน 14,000 ล้านบาท หากได้ AWN เป็นสปอนเซอร์รายใหม่ BBL จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลืออัตราดอกเบี้ย MLR-0.50% จากปัจจุบันคิดอัตรา MLR และขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี หรือสิ้นสุดปี 2575 ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้นและส่งผลให้จ่าย DPU เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 มีมติอนุมัติการจำหน่ายหุ้น TTTBB (3BB) และ JASIF ด้วยสัดส่วน 97.21% (5,150 ล้านเสียง) จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยผู้ถือหุ้นที่ลงมติขายเงินลงทุนดังกล่าว เป็นสัดส่วนของนายพิชญ์ โพธารามิก จำนวนกว่า 55% นั่นหมายถึงนายพิชญ์มีเจตจำนงที่จะขายหุ้น 3BB และ JASIF อย่างเต็มที่ ส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยมีเพียง 2.79% (52,000 เสียง) เพียงเท่านั้น

20 ต.ค. กสทช.เคาะควบทรู-ดีแทค

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ที่ประชุมกสทช.มีมติกำหนดการพิจารณาวาระการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ต.ค. 2565 เนื่องจากรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะส่งมาให้สำนักงานกสทช.วันที่ 14 ต.ค. 2565

โดยต้องนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา เพราะกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อมูลทุกด้านจึงมีความสำคัญต่อการพิจารณาและคาดว่าจะได้ข้อยุติในวันดังกล่าว

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการกสทช. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการกสทช.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องการควบรวม TRUE และ DTAC ในวันที่ 20 ต.ค. 2565 ว่าจะต้องได้ข้อสรุปภายในวันนั้น ทั้งเงื่อนไข 14 ข้อ เงื่อนไขหลัก ข้อกฎหมาย และเงื่อนไขอื่น ๆ มีน้ำหนักพอต่อการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะหรือไม่ หากเพียงพอก็อนุญาต แต่หากไม่เพียงพอก็ไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ ซึ่งสิ่งที่ต้องตอบให้ได้ตอนนี้ก่อน คือบอร์ดมีอำนาจพิจารณาหรือไม่ โดยคณะกรรมการน่าจะมีการถกเถียงให้ความเห็นและลงมติว่ากสทช.มีอำนาจหรือไม่

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการกสทช.ให้ความเห็นว่ามีอำนาจ ฝั่งที่เห็นว่ากสทช.ไม่มีอำนาจก็จะฟ้อง แต่หากคณะกรรมการให้ความเห็นว่าไม่มีอำนาจ ฝั่งที่เห็นว่ากสทช.มีอำนาจก็จะฟ้อง เพราะละเว้นการปฎิบัติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงคดีความฟ้องร้อง จึงเป็นที่มาความยืดเยื้อจากการศึกษาการควบรวม หรือรายงานให้รอบคอบหลายส่วน และการขอความเห็นทั้งจากกฤษฎีกาและการปกครอง เป็นต้น

ด้านหลักการลงมติในวาระสำคัญนั้น คะแนนเสียงต้องเป็นเสียงข้างมากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคณะกรรมการมี 5 ท่าน ต้องลงมติ 3 ต่อ 2 อย่างไรก็ตามปกติประธานมีอำนาจพิเศษในการตัดสินหากการลงมติเท่ากัน 2 ต่อ 2 แต่กรณีนี้มติไม่มีทางเท่ากันแน่นอน เพราะไม่สามารถลงมติซ้ำได้ นอกจากนี้ส่วนของภาคเอกชนได้มีการส่งหนังสือเร่งรัดมาตลอด เพื่อให้หาสาเหตุที่จะเลื่อนไม่ลงมติอีก เพราะอาจเป็นปัญหาเชิงกังขาได้

ก่อนหน้านี้ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ TRUE กล่าวว่า ขอให้บอร์ดกสทช.พิจารณาการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมากว่า 9 เดือนแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจ บริษัทยังขอให้กสทช.แยกประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคกับประเด็นเรื่องธุรกิจออกจากกัน เพราะที่ผ่านมา TRUE ดำเนินการโดยคำนึงถึงผู้บริโภคมาตลอด และอัตราค่าบริการก็ลดลงทุกปี หากกสทช.กังวลผลกระทบจากการควบรวมก็สามารถกำหนดมาตรการให้ผู้ควบรวมปฏิบัติได้

ส่วนประเด็นที่มีผู้เสนอให้ทั้งสองบริษัทที่จะควบรวมกันคืนคลื่นความถี่ที่ทับซ้อนกันนั้น เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคอาจจะฟ้องศาลปกครองหากกสทช.เห็นชอบการควบรวมนั้น เห็นว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้ แต่ในทางกลับกันหากกสทช.ไม่เห็นชอบการควบรวม ทั้งสองบริษัทย่อมเกิดความเสียหายก็ควรมีสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมายได้ด้วย เพราะการรวมกิจการได้แจ้งผู้ถือหุ้นไปแล้ว หากไม่เกิดขึ้นก็ย่อมเกิดผลกระทบกับผู้ถือหุ้น

ขณะที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเลื่อนลงมติพิจารณาควบกิจการ TRUE กับ DTAC เป็นวันที่ 20 ต.ค. 2565 เป็นการลดแรงต้านการคัดค้าน ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ยังรับฟังความคิดเห็นเสียงคัดค้านของสังคมอยู่ แต่ต้องการให้กสทช.ใช้ดุลยพินิจการพิจารณาอยู่บนหลักนิติธรรม โดยอิงตามหลักการเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของหน้าที่ของกสทช. และหลักกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่น การแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ที่แผนแม่บทโทรคมนาคมฉบับที่ 2 ที่กสทช.ใช้อยู่ขณะนี้ระบุว่าจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม

โดยการพิจารณาการควบรวมกิจการดังกล่าวกระทบประเทศมาก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย และมีโอกาสจะผลักดันผู้ประกอบการรายที่ 4 ได้ หากต่อไปเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดยากขึ้น ส่งผลต่อทางเลือกในการใช้บริการของประชาชน