สัญญาใหม่ แจสอีฟ ป่วน

Published on 2022-10-12   By กรุงเทพธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการกองทุนแจสอีฟ แจง มีรายย่อยบางกลุ่ม ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขสัญญาใหม่ "แอดวานซ์ ไวร์เลส"ซื้อหน่วยลงทุน 3บีบีหวั่นราคาหน่วย -เงินปันผลลด พร้อมออกโรงแจงยิบ ย้ำผลดีมากกว่าเสีย

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เปิดเผยว่า จากการจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนก่อนการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วย (Pre E-EGM) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับกรณี ภายใต้เงื่อนไขสัญญาใหม่ในการซื้อหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB และซื้อขายหน่วยลงทุน JASIF ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) (สปอนเซอร์รายใหม่) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC

ทั้งนี้พบว่ามีรายย่อยบางกลุ่ม อาจได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง และไม่เห็นด้วย เช่น กรณีมีสปอนเซอร์รายใหม่ ไม่ได้ส่งผลดีต่อกองทุนฯ ทำให้ราคาหน่วยปรับตัวลง ได้ ผลตอบแทนน้อยลงในช่วงแรก และเงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับลดลงจากรายได้ค่าเช่า ของกองทุนฯ ที่จะลดลงตาม ผู้ลงทุนมี ทั้งต้องการผลตอบแทนและเงินปันผล รู้สึกว่าผลตอบแทนไม่ได้เท่าเดิม

รวมถึงยังพบกรณี มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับรายได้ค่าเช่าของ TTTBB ยังดี และ มีแนวโน้มจ่ายค่าเช่าได้ของกองทุนฯ ได้ แต่ผู้จัดการกองทุนฯ มีมุมมองว่า หากเป็น สปอนเซอร์รายเดิม เงินจ่ายประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วย หรือ DPU (Distribution Per Unit) เฉลี่ยที่ 7.54 บาท มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV (Net Present Value) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.50 บาท น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสปอนเซอร์ใหม่ DPU อยู่ที่ 9.15 บาท NPVเฉลี่ยอยู่ที่ 5.76 บาท

นอกจากนี้ผู้ถือหน่วยรายย่อย ต้องการให้ราคาหน่วยกลับไปเท่าเดิมที่ 10 บาท แต่ทางผู้จัดการกองทุนฯ มองว่า เป็นไปได้ยาก ด้วย ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้กองทุนอินฟราสตักเจอร์ฟันด์และรีท ราคาต่อหน่วยมีโอกาสปรับลดลง และแนวโน้ม ตลาดหุ้นยังไม่ดีนัก

นายพรชลิต กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบัน TTTBB จ่ายค่าเช่ากองทุนฯ และรักษาสัดส่วนใน กองทุนฯได้อยู่ แต่ภายใต้สถานการณ์ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และ TTTBB มี ธุรกิจ ฟิกซ์บรอดแบรนด์เท่านั้น ไม่สามารถแข่งขันได้สะท้อนจาก ส่วนแบ่งการตลาดของ TTTBB ลดลงต่อเนื่อง2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ทรูกับเอไอเอส มีธุรกิจโมบาย เข้ามาช่วย ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ TTTBB มีความสามารถ ในการชำระค่าเช่าลดลง

โดยการทำรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของ TTTBB ในปี 2562 - 2564 ยังคงต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2562-2564 อยู่ที่ 0.98% ต่อปี หากTTTBB จะมีรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตถึง 40,000 ล้านบาทในปี 2573 จะต้องมีอัตราการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 10.20%ต่อปี จนถึงปี 2573 ซึ่งในอดีต 3 ปีย้อนหลัง TTTBB มีอัตราการเติบโตสูงสุดอยู่ที่ 2.25% เท่านั้น

นายพรชลิต กล่าวว่า ทางด้าน กลุ่มนักลงทุนสถาบันอื่นๆ มีความเข้าใจ ในสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนนำเสนอ ภายใต้เงื่อนไขสัญญาใหม่ของ AWN ไม่มีปัญหา มองเป็นโอกาสที่ดีในระยะยาวมากกว่า

โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกองทุนฯ ในวันที่ 18 ต.ค. นี้ ถ้าหากผลการโหวตไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไป หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ และ บลจ. บัวหลวง จะนำผลการโหวตผู้ถือหน่วยรายย่อยดังกล่าว นำเสนอทาง AWN เพื่อตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร