ยักษ์สื่อสารพลิกเกมธุรกิจ จับตาประชาชนได้หรือเสีย

Published on 2022-07-10   By เดลินิวส์

กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่!! ในแวดวงอุตสาหกรรมโทร คมนาคมของไทย สำหรับการที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ประกาศซื้อหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ด้วยมูลค่ารวมแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวน 32,420 ล้านบาท

มีการคาดการณ์กันว่าดีลสั่นสะเทือนวงการโทรคมนาคมอีกครั้งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 66 หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศ ดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค" ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแล ว่าจะอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่?

การประกาศของดีลใหญ่ของเอไอเอสครั้งนี้บ่งบอกอะไรในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย และจะส่งผลดีและผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง!!

ควบรวม-ฮุบหุ้นเรื่องปกติ

ถือเป็นเทรนด์ของธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการควบรวม และซื้อกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและโอกาสแข่งขัน เช่นเดียวกับแวดวงโทรคมนาคม ก็มีเรื่องนี้บ่อย ๆ โดย "สืบศักดิ์ สืบภักดี" นักวิชาการ ด้านโทรคมนาคม ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการในปัจจุบันต้องมีการปรับตัว ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการควบรวม หรือซื้อหุ้น ซื้อกิจการ จะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป

ก่อนหน้านี้ก็มีดีลของทรู-ดีแทค หรือแม้แต่เอไอเอสเองในอดีต ก็เคยซื้อ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ มาแล้ว ซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจลูกค้าองค์กร ซึ่งการซื้อ 3BB เป็นกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่ง ในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ 3BB จะมีความเชี่ยวชาญ และช่วยลดการลงทุนด้านการขยายโครงข่ายได้

ย้ำขั้นตอนเหมือนกัน

หลายคนอาจสงสัยว่ากรณี "เอไอเอส-3BB" กับ "ทรู-ดีแทค" เหมือนหรือแตกต่างกัน?? ในเรื่องนี้ "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" อดีตกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน บอกว่า คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว!!

สำหรับกรณี ทรู-ดีแทค เป็นการควบรวมกิจการ ที่บริษัทผู้ประกอบการจะหายไปหนึ่งแห่ง แต่กรณี เอไอเอส เป็นการซื้อหุ้น บริษัทที่ถูกซื้อยังคงอยู่ โดยกรณีนี้ เอไอเอส และ 3BB มีส่วนที่ถือครองธุรกิจที่เหมือนกันอยู่ คือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. ปี 2549 ด้วย แต่ กรณี ทรู ดีแทค ก็ต้องพิจารณาตามประกาศ กสทช. ปี 2561 แต่ทั้งสองกรณี มีแนวทางเดียวกัน คือ ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. ว่า จะอนุญาตหรือไม่?

ดีลสำเร็จหายใจรดต้นคอ

การขยับตัวของเอไอเอสครั้งนี้ หากมองในมุมธุรกิจ ถือเป็นการแก้เกมฝั่ง ทรู และดีแทค หลังทั้งสองบริษัท ประกาศควบรวมกัน เนื่องจาก ทรูและดีแทค เป็นผู้ตามหลัง เอไอเอส ในตลาดมือถืออยู่ ขณะที่ตลาดบรอดแบนด์ หรือเน็ตบ้าน ทรู เป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดด้วยฐานลูกค้า 4.73 ล้านราย ทิ้งเอไอเอสอยู่รั้งท้ายที่ 4 มีฐานลูกค้า 1.87 ล้านราย ส่วน 3BB เป็นผู้นำอันดับ 2 ฐานลูกค้า 2.42 ล้านราย หากการซื้อหุ้นสำเร็จ "ผ่านฉลุย" จะทำให้ เอไอเอส และ 3BB มีฐานลูกค้ารวมขยับขึ้นมาที่ 4.29 ล้านราย เรียกว่ายอดขึ้นมาหายใจรดต้นคอทรูทันที!! เกมนี้จะทำให้เอไอเอส ขึ้นทางลัดแข่งขันกับทรู ได้ใกล้เคียง แม้ยังไม่ใช่ที่ 1 แต่ในอนาคตก็ไม่แน่!?!

ผู้บริโภคเสี่ยงถูกเอาเปรียบ

"สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ย้ำเตือนว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย หากการควบรวมทั้งสองดีล คือ "ทรู-ดีแทค" และ "เอไอเอส-3BB" เกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทย ก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง!! และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและ อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย เช่นเดียวกับองค์กรผู้บริโภคที่ออกมาคัดค้าน โดย "สารี อ๋องสมหวัง" เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)ยืนยันว่า ทาง สอบ. มีจุดยืนจะคัดค้านในเรื่องนี้อย่างแน่นอน โดยเตรียมหารือกันในวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพราะทั้งสองกรณี ก็ไม่เห็นด้วย อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องทรู-ดีแทคชัดเจนว่าผู้บริโภคได้รับผลกระทบในราคา ค่าบริการที่จะเพิ่มขึ้น 7-120% ส่วนกรณีเอไอเอสกับ 3BB ต้อง ศึกษาก่อนว่า จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

จี้ กสทช.เทคแอ๊คชั่น

ขณะเดียวกัน ทางด้าน ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) คือ "น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์" ซึ่งเป็นอดีต กสทช. ด้วย ก็ออกมาเรียกร้องว่า กรณีนี้ขอให้เป็นอำนาจของ กสทช. วินิจฉัยว่า ดีลนี้ ทำได้หรือทำไม่ได้ โดยต้องให้คำตอบกับสังคมไทย ว่าหากกระบบ ตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมที่กำลังเดินไปในแนวทางที่มีการควบรวมธุรกิจนั้น ผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับคืออะไร? และผู้บริโภคควรดำเนินการอย่างไร? และหาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมได้ ทาง กสทช.จะรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคอย่างไร? หรือหาก ไม่อนุญาตให้ควบรวม ที่อาจนำมาสู่การฟ้องร้องจากบริษัทเอกชน กสทช. ต้องการแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างไร?

"สภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการหรือการซื้อหุ้นในธุรกิจใด ๆ ที่ทำให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาด ลดทางเลือกผู้บริโภค ลดการแข่งขันในตลาดที่เหลือผู้เล่นรายใหญ่น้อยราย จึงเรียกร้องไปยังภาครัฐ ทั้ง กสทช. และรัฐบาล ให้ออกมาแก้ไขและหาทางออก เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในกิจการ โทรคมนาคมของประเทศ"

ผู้บริโภคต้องได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตั้งแต่กรณีการควบรวม "ทรู-ดีแทค" มีจัดเวทีเสวนามากมาย ถกเถียง แสดงว่าคิดเห็น ไปในแนวทางต่าง ๆมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด หรือมีการพูดถึงกันให้ เป็นที่ประจักษ์และคลายความสงสัยได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรบ้าง จากดีลของยักษ์ใหญ่เหล่านี้???

"ชโลม เกตุจินดา" อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา ระบุว่า การรวมกันจะมีประโยชน์อย่างไรในการให้คุณภาพบริการที่ดีขึ้นหรือไม่? ในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอด สำหรับการรวมกันของทรูและดีแทค ทำให้เห็นอำนาจในการจัดการส่วนแบ่งการตลาดมือถือมากขึ้น ส่วนเอไอเอส ซึ่งกำลังจะซื้อ 3BBเป็นแนวทางการถือครองตลาดในส่วนเน็ตบ้าน ซึ่งเป็น กระแสสำคัญ ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเพราะคนเกือบทุกกลุ่มต้อง เวิร์ก ฟรอม โฮม และเด็กก็ต้องเรียนจากบ้าน เท่ากับว่าผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่เตรียมแบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน คือ บริการมือถือและบริการเน็ตบ้าน โดยไม่ต้องแข่งขันกันเรื่องราคา ตอกย้ำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกมากขึ้น

เน็ตบ้านไม่เกิน 500 บาท

ทั้งนี้ทาง "ชโลม" เสนอว่า เรื่องการกำหนดราคาแพ็กเกจที่เหมาะสม ทาง กสทช.ควรมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยกว่า 700 บาท สิ่งสำคัญ คือ บริการที่เหมาะสม กับผู้บริโภค แต่ละกลุ่ม ในราคาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งผู้บริโภคทั่วไปไม่ควรจ่ายค่าบริการมือถือเกินเดือนละ 200 บาท และเน็ตบ้านไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาท

สิ่งที่ กสทช.ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการในลักษณะของการควบรวม หรือผูกขาดตลาด คือการเร่งกำกับคุณภาพมาตรฐาน และสอบถามถึงแผนการดำเนินการที่ชัดเจนของผู้ประกอบการทั้งในระบบโครงข่ายมือถือและการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน และที่สำคัญคือ ควรจะมีการสร้างระบบรับเรื่องร้องเรียน การเปิดเผยข้อมูลคุณภาพบริการ การกำกับ หรือกฎ หรือนโยบายการใช้งานดาต้าหรืออินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายมือถือ เพื่อการใช้งานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ ตรวจสอบแพ็กเกจความเร็วตามเกณฑ์ ด้วยเครื่องมือตรวจสอบและเข้าถึงได้ง่าย

แม้ว่าดีล "เอไอเอส-3BB" จะยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังไม่รู้ว่าจะกลายเป็น "หนังยาว" ที่ยังไม่รู้จุดจบ อย่างเช่น กรณีดีล "ทรู-ดีแทค" หรือไม่ แต่ทั้งหมดทำให้มองเห็นทิศทางของธุรกิจโทรคมนาคมของไทย คงต้องวัดใจ กสทช.ว่าจะตัดสินดีลทั้งสองออกไปในรูปแบบใด

สุดท้ายแล้ว...ผู้บริโภค ประชาชนคนไทยจะถูกทิ้งกลางทาง!! ก้มหน้ารับกรรมด้วยค่าบริการแพง ๆ หรือไม่!?!.