AIS ซื้อ 3BB อดีตบอร์ด กสทช. อธิบายความต่าง เคสดีแทคควบรวมทรู

Published on 2022-07-05   By prachachat.net

อดีตบอร์ด กสทช. ตอบคำถาม กรณี AIS ซื้อกิจการ 3BB แตกต่างจากการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคอย่างไร 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีบริษัทลูก AIS ซื้อกิจการ 3BB ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจะใช้วิธีการเดียวกับการควบรวมกิจการของทรูกับดีแทคหรือไม่

ล่าสุด นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานอนุกรรมการศึกษา แสดงความเห็นกรณีดังกล่าว ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ออกอากาศช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30

พิธีกรถามว่า AIS และ 3BB ต้องผ่าน กสทช.ด้วยมั้ย นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า ในหนังสือ AIS มีการระบุชัดเจนว่าต้องขอ กสทช.ก่อน ถ้าไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

พิธีกร: หลักเกณฑ์เดียวกับทรู-ดีแทค ที่จะควบรวมกันหรือไม่ กรณี AIS ซื้อ 3BB ยุ่งยากกว่าหรือไม่

นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า ใช้ประกาศฉบับเดียวกัน แต่มีความต่างกันนิดเดียว กรณีทรู-ดีแทค เป็นการควบรวมบริษัทแม่ แต่ของเอไอเอส และ 3BB เป็นผู้รับอนุญาตทั้งคู่ อันนี้ถือเป็นการซื้อกิจการ ที่มีลักษณะถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไปตรงมา

“เคสของ AIS และ 3BB มีความชัดเจนทางกฎหมายมากกว่า เป็นธุรกิจเดียวกันทั้งคู่ ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่ ไม่เกี่ยวกับบบริษัทลูกอะไรทั้งสิ้น”

พิธีกรกล่าวว่า สรุปคือ ทรูกับดีแทคเมื่อเขาต้องการขอรับใบอนุญาต เขาจะใช้บริษัทลูกไปขอรับใบอนุญาต ตัวดีแทค และทรูอยู่ในสถานะบริษัทแม่ ซึ่งเมื่อต้องการควบรวมกัน เขาใช้บริษัทแม่ ซึ่งไม่ถือครองใบอนุญาต ดังนั้นจึงพ้นข้อจำกัด

ทางด้านนายแพทย์ประวิทย์กล่าวต่อว่า ไม่ถึงขั้นพ้นข้อจำกัด ในทางกฎหมายเรียกว่า ผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับอนุญาต ก็อยู่ในข่าย เพียงแต่เป็นการต่อสู้ประเด็นทางกฎหมาย และเมื่อถามว่าจะควบบริษัทแม่ แล้วจะควบบริษัทลูกด้วยหรือไม่ เขาตอบไม่ได้ ต้องรอกรรมการบริหารบริษัทที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวมแล้วพิจารณา

เมื่อถามต่อไปว่าบริษัทลูกจะควบรวมหลังจากนี้ใน 1 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ ใช่หรือไม่ เขาตอบว่าใช่ เป็นอำนาจบริหารของกรรมการบริษัทใหม่ ดังนั้นมีเจตนาเป็นไปได้ว่า จะควบรวมบริษัทลูก เป็นไปได้สูง เพื่อลดต้นทุน โดยหลักแล้วทรูไม่ได้ถือใบอนุญาตเลย แต่ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส (ดีแทค) ถือใบอนุญาตไวไฟแบบขายส่ง 1 ใบอนุญาต

เลยเป็นเหตุว่าอย่างไรเสียต้องให้ กสทช.พิจารณา ถือว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้ มีผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทลูกรายเดียวกันทั้งสองบริษัทด้วย จึงเข้าข่ายตามกฎหมาย

พิธีกร: กสทช. มีอำนาจในการคัดค้านได้หรือไม่ มีอำนาจในการตั้งเงื่อนไขในการคัดค้านอย่างไร

นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า ข้อมูลจาก กสทช. ที่ไปชี้แจงกับศาลปกครอง กรณีที่มีการฟ้องเพื่อให้จัดการประกาศปี 2561 ซึ่งเขียนว่าให้รายงานเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ต้องอนุญาต ครั้งที่ 1 กสทช.แจ้งว่า แม้ประกาศปี 2561 มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะ เงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะนี้ รวมถึงการห้ามควบรวมด้วย

“พูดง่าย ๆ ประกาศปี 2561 ก็มีอำนาจห้ามควบรวม เเล้วในการชี้แจงต่อศาลปกครองครั้งที่ 2 มีการเพิ่มเติมด้วยว่าในประกาศปี 2561 มีเขียนไว้ในข้อ 9 ว่า การรายงานการรวมธุรกิจ ให้ถือเป็นการขออนุญาตตามปี 2549 ซึ่งประกาศปี 2549 การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันในกรณีนี้คือโทรศัพท์มือถือนะ ต้องได้รับอนุญาต แปลว่าสามารถคัดค้านได้ หรือจะตั้งเงื่อนไขยังไงก็ได้” นายแพทย์ประวิทย์กล่าว

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวต่อว่า ทางดีแทคมีความพยายามจะใช้ข้อกฎหมายว่าในกรณีควบรวมที่ผ่าน ๆ มา ยกตัวอย่างกรณี TOT กับ กสท. ไม่ได้เป็นการอนุญาต เป็นการรับทราบ พูดง่าย ๆ ว่า พยายามจะยกเคสซึ่ง กสทช.ชุดเดิมไม่ได้พิจารณา มาเป็นประเด็นต่อสู้ เป็นเทคนิคทางกฎหมายในการต่อสู้กันในอนาคต จะไม่เปิดเผยรายละเอียด

พิธีกร: กรณีปัจจุบัน AIS และ 3BB ทั้งคู่ต่างกันออกไป กรณีนี้คุณหมอบอกว่ามันชัด ทั้ง AIS และ 3BB อยู่ในสถานะผู้ถือใบอนุญาตทั้งคู่ ถือว่าชัดเจน ดังนั้น กสทช. มีอำนาจในการคัดค้านก็ได้ หรือจะตั้งเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ แล้วทำไม AIS ไม่ต่อสู้เหมือนกรณีของ ทรู และ ดีแทค

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า ใช่ครับ ทาง AIS ก็ยอมรับในหนังสือที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่าจะต้องผ่าน กสทช. กรณีที่ไม่ต่อสู้ อาจจะ หนึ่ง เป็นเพราะข้อกฎหมายตรงไปตรงมา สอง อาจจะเป็นการวางกรอบให้ กสทช.ควรจะต้องอนุญาต หรือไม่อนุญาตทั้งสองกรณี พูดง่าย ๆ ว่าเป็นการกระทบชิ่ง

เพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่างกับทรูและดีแทค และชิ่งที่สองคือทุกคนจะเกิดการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ต้องมีการวิเคราะห์ควบรวมว่าใครมีความจำเป็นในการซื้อกิจการมากน้อยกว่ากัน คนที่จำเป็นน้อยกว่าก็อาจเดือดร้อนน้อยกว่า

พิธีกร: กสทช.มีเกณฑ์อะไรว่าอะไรคือจำเป็นมาก จำเป็นน้อย 

นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า ดูในทางธุรกิจว่า หากไม่ซื้อกิจการหรือไม่ควบรวมจะสามารถดำเนินกิจการได้หรือไม่ ถ้าดำรงอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา ก็จำเป็นน้อย ถ้าประเภทต้องกระเสือกกระสนก็จำเป็นมาก

ในกรณี AIS ใช้กลยุทธ์ทางราคามาต่อสู้ในระยะเวล 6 ปี และช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด 10 % ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าไม่สามารถก้าวเข้าสู่ 3 อันดับแรกได้สักที ยังเป็นอันดับ 4 ตลอด ก็เลยใช้ทางลัดในการซื้อกิจการ ก็จะสามารถกระโดดเข้าสู่ 3 อันดับแรก

ตรงไปตรงมาคือถ้า AIS ไม่ซื้อกิจการก็ยังสามารถดำรงได้ แต่การซื้อกิจการเป็นการโตทางลัด และผลกระทบต่อผู้บริโภคคือสงครามราคาน่าจะลดลง หรือหายไปเลย ส่วนทาง 3BB ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างสูง และผลประกอบการยังพอไปไหว เพียงแต่ในระยะปีหลัง ๆ อาจจะติดลบไปบ้าง จากการวิเคราะห์เบื้องต้นคือ บริการเดิมโดนผลกระทบจากสงครามราคา ทำให้การขยายฐานมันลำบากขึ้น ทำให้ลูกค้าเลือกไหลออก

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า ดูภาพรวมสายป่านของ 3BB น่าจะสู้ AIS และทรูไม่ได้ AIS มีกลุ่มทุนใหญ่คือ Gulf ส่วนทรูคือซีพี ขณะที่ 3BB ฐานเล็กกว่าเจ้าอื่น นักวิเคราะห์ชี้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา 3BB ก้าวเข้าสู่อาณาจักรคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูง เพียงแต่ว่าตอนนี้จังหวะอาจจะดูไม่ดี เพราะคริปโตไม่มั่นคง ดังนั้นการกอดเงินสด (สามหมื่นล้าน) อาจจะดูดีหรือไม่อย่างไรก็อยู่ในสายตาของนักลงทุน

หลังจากการขายครั้งนี้ JAS น่าจะเหลือตัวบริการคอนเทนท์อยู่ กลุ่มทรูและ AIS พยายามจะยึดครองสองขาหลักให้ได้ คือบริการมือถือ และบริการอินเตอร์เน็ตบ้าน เพราะต่างฝ่ายต่างมีคอนเทนต์อยู่แล้ว ดังนั้นผู้ที่จะถูกควบรวมยกตัวอย่างดีแทค คือมีขาเดียวคือมือถือ ในส่วนของ 3BB คืออินเตอร์เน็ตบ้าน บวก คอนเทนต์นิดหน่อย ดังนั้นทุนใหญ่ต้องการคุมให้ได้ 3 ขา

พิธีกร: กสทช.ก็มีสิทธิจะคัดค้านการควบรวมนี้ 

นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า ต้องมีการวิเคราะห์การตลาด จำลองตลาดวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้บริโภคต่อการแข่งขันตลาด ต่อรายใหม่ หรือ ต่อประเทศ ถ้าผลกระทบรุนแรงก็อาจจะไม่อนุญาต ถ้าผลกระทบไม่รุนแรง จะกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะ เหมือนกันทั้งสองกรณี

พิธีกร: กระแสสังคม คนมองว่าอย่างไรก็ผ่านคณะกรรมการ 

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า อาจจะเป็น เนื่องจากเอารูปแบบการกำกับดูแลของ กสทช.ชุดเดิมมา เราจะเห็นว่าการควบรวมที่ผ่านมา ชุดเดิมแทบไม่แตะต้องเลย แต่บังเอิญมันเกิดจุดเปลี่ยน คือการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เอกชนก็เลยอาจจะมีอุปสรรค ความไม่สะดวกในการรวมธุรกิจ ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่เป็นไฟเขียวผ่านตลอด ซึ่งขอยืนยันว่า กสทช.ชุดปัจจุบัน อาศัยข้อมูลและข้อวิเคราะห์ที่ยังไม่เสร็จ

พิธีกร: คิดว่าหวยจะออกตรงไหน จะไฟเขียวแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ 

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า อันนี้ตรงไปตรงมาเลยนะครับ จากการพยายามหารือก็พบว่าทุกท่านรอข้อมูล และปัจจุบันข้อมูลสำนักงาน กสทช.ยังรวบรวมไม่เรียบร้อย ถ้าตัวเค้าโครงยังไม่เห็นเนี่ย ยังฟันธงไม่ได้

พิธีกร: แต่ในแวดวงธุรกิจมองที่ตัวเจ้าสัวเป็นใคร และทิศทางไปทางไหน ไม่มีการวิเคราะห์ซับซ้อน 

นายแพทย์ประวิทย์ตอบว่า เอาตรงไปตรงมา เพราะว่าเขาไม่ใช่จำเลย แต่ถ้า กสทช.ใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบก็จะเป็นจำเลย มีคำขู่ว่าจะยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาทุจริต มีคำขู่ว่าจะฟ้อง ปปช. มีคำขู่ว่าจะฟ้องแพ่งรับผิดชอบความเสียหาย ทั้งหลายทั้งปวงเนี่ยแปลว่าถ้า กสทช.ไม่ยึดคำตามกฎหมายจะแพ้คดี ดังนั้นจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า กสทช.จะไฟเขียวเจ้าสัวรายไหน เถ้าแก่รายไหน ถ้าทำอย่างงั้นติดคุกง่าย ๆ

พิธีกร: ไป ๆ มา ๆ ประเทศนี้จะเหลือแค่ 2 เจ้าคือ AIS และทรู และถามต่อกรณีหลังจากนี้ถ้าการขายสำเร็จ 3BB จะเหลือเพียงแค่ธุรกิจคอนเทนต์อย่างเดียว ในอนาคตก็จะขายธุรกิจคอนเทนต์ให้กับเจ้าใดเจ้าหนึ่งไปด้วย 

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวต่อว่า เรียกว่าเป็นวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ถ้าต้องการครอบครองผู้บริโภคต้องครอบครองมือถือ อินเตอร์เน็ตบ้าน คอนเทนต์สาระบันเทิงซึ่งผู้บริโภคดูอยู่ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมอื่นลูกค้าในระดับ cooperate เราให้ครอบครองดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรืออีโค่ซิสเต็ม ดังนั้นจะเห็นว่าทั้งสองรายวิ่งไปทางเดียวกัน โลกในยุคดิจิทัลมันย้ายค่ายยาก

ในกรณีของ 3BB อันนี้ต้องดูว่าต่อให้อยากขาย ต้องดูว่าคอนเทนต์นั้นมีคุณภาพ หรือมูลค่ามากพอรึป่าว ตอนนี้เข้าใจว่าคอนเทนต์ของ 3bb อาจจะมี HBO ซึ่งพอน่าสนใจอยู่ แต่ต้องเรียนให้ทราบว่าเอกชนสองค่ายสามารถไปติดต่อกับ HBO ได้เลย ช่องดิจิทัลอยู่คือช่อง MONO ถือว่ามีมูลค่า ช่อง MONO ก็ใช้กลยุทธ์ขายซีรี่ย์หรือภาพยนตร์ซึ่งเป็นกลยุทธ์เก่า แต่ก็มีกลุ่มผู้ชมที่ติดตามอยู่หนาแน่นอยู่ครับ

พิธีกร: ถ้าคุณหมอเป็นคุณพิชญ์ โพธารามิก คุณหมอจะขายธุรกิจคอนเทนต์มั้ยในเมื่อสายหลักไปหมดแล้ว

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า ต้องถามก่อนว่าผมมีธุรกิจอื่นที่สร้างระแสเงินสดอีกหรือไม่ ถ้ามีผมขาย แต่ถ้าไม่มี แล้วกระแสเงินสดเกิดจากธุรกิจคอนเทนต์ ผมตีกินเงินสดก็ยังมีประโยชน์ระยะยาว