JTS-ZIGA-SCIเต็มสูบ! บุกเหมืองขุดบิตคอยน์

Published on 2022-02-23   By ข่าวหุ้น

ผู้ถือหุ้น JTS ไฟเขียวเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์เพิ่ม พร้อมออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 4 พันล้านบาท ขณะที่ ZIGA จับมือพันธมิตรตั้ง 2 บริษัทย่อย รุกธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ทุ่ม 4 พันล้านบาท ลุยทำเหมืองขุดบิตคอยน์ วางเป้ารายได้ปีนี้โต 15-30% ฟาก SCI พลิกมีกำไร 3.45 ล้านบาท ตั้งบริษัทย่อยลุยธุรกิจกัญชง- เหมืองขุดคริปโต

นายดุสิต ศรีสง่าโอฬาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยีโซลูชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ JTS เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ได้มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) เพิ่มเติม ดังนี้ อนุมัติการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์จํานวน 1,800 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 741.60 ล้านบาท จากบริษัท พรีเมียม แอสเซท จํากัด (Premium Asset) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) หรือ JAS ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จะสามารถซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์จาก Premium Asset ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และรับมอบเครื่องขุดบิตคอยน์ เพื่อดําเนินการได้ภายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันอนุมัติการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์จํานวนไม่เกิน 4,500 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยคาดว่าจะเริ่มดําเนินการจัดซื้อในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป มีมูลค่ารวมเป็นจำนวน 2,558.40 ล้านบาท สำหรับเครื่องขุดบิตคอยน์ จำนวนไม่เกิน 4,500 เครื่อง : HASH Super Computing Server, รุ่น S19XP 140T หรือเทียบเท่า มูลค่ารวมไม่เกิน 2,196.24 ล้านบาท ขณะที่ระบบไฟฟ้าและระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จำนวน 362.16 ล้านบาท

รวมถึงอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 1. เพื่อลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ และ 2. เพื่อชำระหนี้ให้สถาบันการเงิน โดยในส่วนของการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ บริษัทมีความตั้งใจที่จะใช้เงินที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเหมืองขุดบิตคอยน์ด้วย เช่น ค่าไฟฟ้า

ดังนั้น บริษัทจึงขอปรับข้อความเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังนี้ จากข้อความเดิม “เพื่อลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์”เสนอเป็น “เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเหมืองขุดบิตคอยน์” ซึ่งการปรับข้อความดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยข้อความที่ปรับดังกล่าวไม่ได้กระทบกับสาระสำคัญของวัตถุประสงค์ในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ตามที่บริษัทได้เคยแจ้งกับผู้ถือหุ้นไว้

สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน มูลค่าการเสนอขาย จำนวนรวมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 3 ปี จะเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในคราวเดียว หรือหลายคราว ให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงในประเทศ หรือในต่างประเทศ ในคราวเดียวกันหรือต่างคราวกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในขณะที่ออกและเสนอขายหุ้นกู้ หรือตามข้อตกลงเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่ได้ออกในคราวนั้น

และอนุมัติการเข้าทํารายการเพื่อขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับหลักประกันในการออกและเสนอขาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ซึ่งการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยบริษัทจะเข้าทําสัญญาเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านหลักประกันจาก JAS หรือ บริษัทในกลุ่ม JAS ในการนําหุ้นสามัญในบริษัทที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ JAS หรือ บริษัทในกลุ่ม JAS หรือที่ดิน หรืออาคารซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Premium Asset มาจํานํา หรือจํานองเพื่อเป็นหลักประกันสําหรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงเวลาเดียวกัน

ZIGA รุกธุรกิจดิจิทัล-บิตคอยน์

นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA เปิดเผยว่า วานนี้ (22 ก.พ. 2565) ZIGA ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ 1. บริษัท เมอร์ลินตั้น อินโนเวชั่น จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและพัฒนาธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับ Digital Technology ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดย ZIGA ถือหุ้นสัดส่วน 89.98% นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ถือหุ้น 0.01% นางสาวฐปนี ตรีมุทธาพงศ์ ถือหุ้น 0.01% และนางลลินฑิพย์ ทิตระกูล ถือหุ้น 10%

2. บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนธุรกิจที่ให้บริการทางการเงิน ที่นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ (Financial Technology หรือ FinTech และทดลองและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวมถึงพัฒนาและบริหารผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดย ZIGA ถือหุ้น 69.99% นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ถือหุ้น 0.01% นายพิศาล อึงชุมโชค 28% นายณัฐวุฒิ สิงห์ถม 1% และนายธนพัฒน์ เวชศิลป์ 1% โดยทั้ง 2 บริษัทจะเริ่มเห็นการดำเนินงานด้านดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้เนื่องจาก ZIGA มีแผนเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากธุรกิจเหล็กสู่เทคโนโลยี โดยเริ่มต้นที่ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งตั้งเป้ามีเครื่องขุด 400 เครื่องในไตรมาสแรกปีนี้ พร้อมมีแผนลงทุนระยะต่อไปในกรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาทในการพัฒนาธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยตั้งเป้ามีเครื่องขุดบิตคอยน์ให้ได้ถึง 10,000 เครื่อง รวมทั้งมีแผนดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกมออนไลน์ และโทเคน (Token) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ZIGA ยังคงเดินหน้าธุรกิจดั้งเดิมคือธุรกิจเหล็กต่อไป โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ 90% ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าว่ารายได้จากธุรกิจเหล็กจะเติบโตไม่ต่ำ 15-30% หรืออยู่ที่ 1,500-2,000 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มีรายได้ราว 1,141 ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจด้านเทคโนโลยีในปีนี้จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากปี 2564 ที่มีเครื่องขุดบิตคอยน์ 100 เครื่อง รายได้ 600,000 บาท พร้อมตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจากนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีจะต้องสูงกว่าธุรกิจเหล็ก

“การร่วมมือกับพันธมิตรตั้งบริษัทย่อยครั้งนี้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ และเป็นการเติมเต็มธุรกิจเหล็ก และธุรกิจโครงสร้างโรงเรือนกัญชง-กัญชา หนุนการเติบโตได้ต่อเนื่อง” นายศุภกิจ กล่าว

SCI ลุยกัญชง-เทคโนโลยี

นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค. 2564) บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 180.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 101.91% มีรายได้รวม 1,626.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.23%

ทั้งนี้เนื่องจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8.84% มาอยู่ที่ 1,443.89 ล้านบาท จากธุรกิจผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย อีกทั้งมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 67.98% มาอยู่ที่ 125.35 ล้านบาท จากงานโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยในประเทศ แต่บริษัทมีกำไรน้อยกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ เนื่องจากในปี 2564 มีการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่ประเทศเมียนมาไปแล้วบางส่วน ด้านงานโครงการก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย (โครงการ 500 kV) ยังไม่มีความคืบหน้าของงานโครงการ

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในปี 2564 กลุ่มบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวม 1,598.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.42% เนื่องจากต้นทุนการขายเพิ่มขึ้น 14.93% อยู่ที่ 1,314.87 ล้านบาท จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามราคาตลาด อีกทั้งต้นทุนจากการให้บริการเพิ่มขึ้น 55 ล้านบาท จากงานโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยในประเทศ

ขณะเดียวกันวานนี้ (22 ก.พ. 2565) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังมีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อย SCI VENTURE ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น กัญชง, Tech company และเหมืองขุดคริปโต เป็นต้น โดยจะเข้าร่วมกับพันธมิตร เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ สร้างความเติบโตให้กับบริษัทต่อไป

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (แบ็กล็อก) ปัจจุบันที่มีประมาณ 950 ล้านบาท และบริษัทมีแผนเข้าประมูลโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนผ่านบริษัทร่วมเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ ในปี 2565 ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมและมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการตามแผนงานที่วางไว้อย่างแน่นอน