ดีอีเอสหนุนค่ายมือถือ/เน็ตอัปสปีด-ส่งแพกเกจใช้งานไม่จำกัด ลดค่าใช้จ่ายเรียนออนไลน์

Published on 2021-04-26   By ผู้จัดการออนไลน์

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส นั่งหัวโต๊ะระดมความร่วมมือผู้ให้บริการมือถือ/อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการแอป ส่งแพกเกจราคาพิเศษ ใช้งานไม่จำกัด ลดค่าใช้จ่ายนักเรียน-นักศึกษากว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ ในการเข้าถึงการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ฝ่าวิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอส เร่งประสานงานขอความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ/อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ในการสนับสนุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

โดยวันนี้ (26 เม.ย.) ได้มีการจัดประชุมออนไลน์ร่วมกับเอกชนผู้ให้บริการมือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ จำกัด (3BB) รวมทั้งผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ ไลน์ และ Zoom เพื่อพิจารณารูปแบบและค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียน นักศึกษาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ

เบื้องต้น ในที่ประชุมผู้ให้บริการมือถือทุกรายได้รับในหลักการว่าจะไปพิจารณาร่วมกันในการออกแพกเกจรายเดือนในความเร็วไม่ต่ำกว่า 4Mbps ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (Unlimited Data) เพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนและนักศึกษาในการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว กระทรวงดีอีเอสจะนำเสนอหลักการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

“ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของดีอีเอส ในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วยแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในการเรียนการสอน ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศ นักเรียน นักศึกษากว่า 8 ล้านคน ต้องหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียน สถานศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบการเรียนการสอนทางไกลโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และหลายคนต้องปรับตัวกับระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการอินเทอร์เน็ต” นายชัยวุฒิ กล่าว

หลังจากนี้ ดีอีเอสจะประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสรุปรายชื่อนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล สำหรับการลงทะเบียนใช้สิทธิการสนับสนุนเรียนการสอนออนไลน์ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยธนาคารกรุงไทย จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องระบบการลงทะเบียน