JASกำไรปกติโตแต่ขาดทุน ติดบ่วงระบบมาตรฐานบัญชี

Published on 2020-11-17   By ข่าวหุ้น

 “JAS” โชว์งบเดี่ยวไตรมาส 3/63 มีกำไรจากการดำเนินงาน 444.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.49% แต่งบรวมขาดทุนสุทธิ 794 ล้านบาท เหตุผลกระทบการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 16 ฟาก TRUE แจ้งงบ Q3 มีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท ลดลง 96.4% หลังค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น-ไม่มีบุ๊กกำไรขายหน่วยลงทุนใน DIF
          นางสาวสายใจ คีตสิน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 794 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 342 ล้านบาท และจากไตรมาสก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 414 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 3/2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 85 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2/2563 บันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 193 ล้านบาท
          ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 738 ล้านบาท เมื่อรวมรายการปรับปรุงสำรองประกันรายได้ค่าเช่า OFC ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จากการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานอัตราคิดลด จำนวน 80 ล้านบาท และการบันทึก Deferred Tax ของบริษัทและบริษัทย่อย จำนวน 9 ล้านบาท รวมทั้งบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 85 ล้านบาท และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (สำรองหนี้สงสัยจะสูญของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ผู้ให้บริการ 3BB) จำนวน 60 ล้านบาท ดังนั้นในไตรมาส 3/2563 บริษัทและบริษัทย่อยจึงมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 794 ล้านบาท
          โดย EBITDA ในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 3,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มี EBITDA อยู่ที่ 1,941 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่มี EBITDA อยู่ที่ 3,019 ล้านบาท เป็นผลมาจากการบันทึกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ในส่วนสัญญาเช่าหลัก (80% ของ OFC) ทำให้ค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายที่บันทึกในงบกำไรขาดทุนเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับการบันทึกบัญชีตามแบบเดิม)
          ขณะที่ บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 4,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวมจากการดำเนินงานอยู่ที่ 4,664 ล้านบาทและลดลง 0.3% จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้รวมจากการดำเนินงานอยู่ที่ 4,833 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจาก TTTBB
          ดังนั้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2,199 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,123 ล้านบาท
          สำหรับในไตรมาส 3/2563 ลูกค้าที่ใช้บริการของ 3BB เพิ่มขึ้นสุทธิ (Net Additional Subscriber) จำนวน 80,431 ราย ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ 3BB อยู่ที่ 3.43 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่ใช้บริการ FTTx ประมาณ 2.36 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ FTTx ที่ 69% เพิ่มขึ้นจาก 66% ณ สิ้นไตรมาส 2/2563
          ในส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการ FTTx ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะเป็นการเปลี่ยนลูกค้าที่ใช้บริการ xDSL เดิมมาเป็น FTTx ตามแผนของบริษัท ในไตรมาส 3/2563 ลูกค้าที่ใช้บริการ FTTx ของ 3BB มีจำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิอยู่ที่ 136,097 ราย ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่มีจำนวนลูกค้า FTTx เพิ่มขึ้นสุทธิอยู่ที่ 175,609 ราย โดยบริษัทคาดว่าจำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นจากการออกแพ็กเกจ 3BB GIGA TV ในเดือน พ.ย. 2563 นี้ หลังจากที่บริษัทได้มีการออกแพ็กเกจ GigaFiber ในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
          ส่วนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอรเน็ต จัสมิน หรือ JASIF มีรายได้รวมในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 2,540.9 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,481.2 ล้านบาท และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 อยู่ที่ 87,984.6 ล้านบาท คิดเป็น 10.9980 บาทต่อหน่วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไตรมาส 3/2563 ของ JAS ในงบการเงินเฉพาะกิจการ (งบเดี่ยว) มีกำไรจากการดำเนินงาน 444.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 368.86 ล้านบาท และมีกำไรสำหรับงวด 347.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสำหรับงวด 287.75 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีกำไรสะสมประมาณ 2,786.47 ล้านบาท ดังนั้นคาด JAS จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้
          แม้ว่างบการเงินรวม JAS ในไตรมาส 3/2563 จะมีกำไรจากการดำเนินงาน 64.27 ล้านบาท ลดลง 444.36 ล้านบาท หรือลดลง 87.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 508.63 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 787.76 ล้านบาท ลดลง 444.86 ล้านบาท หรือลดลง 129.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 342.90 ล้านบาท ดังนั้น ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีขาดทุนสะสมประมาณ 8,622.70 ล้านบาท
          * TRUE แจ้ง Q3 มีกำไร 104 ล้าน
          นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 กลุ่มทรูมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 104 ล้านบาท ลดลง 96.4% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,857 ล้านบาท เนื่องจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นตามการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องและใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับเพิ่มในปี 2563 รวมถึงผลกระทบเชิงลบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 16 และฐานที่สูงในไตรมาส 3/2562 ซึ่งมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF
          ขณะเดียวกัน กำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ลดลง 91.7% จากไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,262 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จำนวน 234 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสก่อนมีการบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
          สำหรับรายได้จากการให้บริการโดยรวมในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 26,466 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 26,598 ล้านบาท และลดลง 0.5% จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 26,612 ล้านบาท จากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนตัว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงกดดันจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าอย่างต่อเนื่อง
          โดยรายได้จากการให้บริการหลักในไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หนุนโดยฐานผู้ใช้บริการกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนและบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนอีเวนต์ที่ลดลง ส่งผลให้ทั้งรายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องของทรูวิชั่นส์ลดลงด้วย
          ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2563 ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 19,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 19,269 ล้านบาท แต่ลดลง 1.1% จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 20,171 ล้านบาท ซึ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มระบบรายเดือนได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิในระบบรายเดือน จำนวน 269,000 ราย ในไตรมาส 3/2563 ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนเติบโตในอัตราแบบเลขสองหลักจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน
          ในขณะที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยังคงกดดันรายได้ในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและรายได้จากบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศ โดยฐานผู้ใช้บริการรวมของทรูมูฟ เอช สิ้นไตรมาส 3/2563 มีจำนวน 30.1 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน 20.8 ล้านราย และกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือน 9.3 ล้านราย
          ส่วนรายได้จากการให้บริการของทรูออนไลน์ ในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 9,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 9,406 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 2.3% จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 9,239 ล้านบาท) หนุนโดยความต้องการใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทรูออนไลน์มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 111,000 ราย ในไตรมาส 3/2563 ขยายฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านราย
          สำหรับทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 2,648 ล้านบาท ลดลง 13.9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 3,074 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 0.2% จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 2,642 ล้านบาท เนื่องจากฐานลูกค้าพรีเมียม โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงแรมปรับตัวเพิ่มขึ้น และฐานลูกค้าทั่วไปยังคงเติบโต
          ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กลุ่มทรูมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,205 ล้านบาท ลดลง 77.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,426 ล้านบาท และมีรายได้จากการให้บริการโดยรวมอยู่ที่ 79,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 78,597 ล้านบาท