อินฟราฯฟันด์แรง! JASIF-DIFท็อปพิก แข่งจ่ายปันผลสูง ไตรมาสละ 25-26 สตางค์

Published on 2020-11-05   By ข่าวหุ้น

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF อนาคตดีตลาดบอรดแบนด์โตได้อีกมาก คาดกำไรปีนี้ 8.35 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือดิวิเดนด์ยีลด์ 10.14% ปีหน้ากำไรพุ่งเป็น 8.6 พันล้านบาท ยีลด์ 10.24% ไตรมาส 3/63 คาดปันผลอีก 0.25 บาท หลังปันผล 0.24 บาทในไตรมาส 1 และ 0.25 บาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป้าหมายราคา 11.62 บาท ด้าน DIFประกาศจ่ายปันผล 0.2610 บาทต่อหน่วย ขึ้น XD วันที่ 11 พ.ย.นี้
          บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด แนะนำ ทยอย “ซื้อ” สะสมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIFโดยให้เก็บกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มโทรคมนาคม ซึ่งผลการดำเนินงาน (Recurring) ของกองได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ค่อนข้างจำกัด
          นอกจากนั้นอัตราการใช้งาน หรือ U-Rate ของทรัพย์สินส่วน JASIF ก็ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยทั้งพอร์ต U-Rate อยู่ที่ระดับ 55% ทำให้รายได้มีความสม่ำเสมอและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า เพราะหากพิจารณาจากภาพอุตสาหกรรมของบรอดแบนด์ หรือ FBB ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการใช้งานของคนไทย (Penetration Rate) อยู่ที่ 40% (จีนอยู่ที่ 85%) ดังนั้นโอกาสในการเติบโตในอนาคตยังมีอยู่มาก
          ในด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน หรือดิวิเดนด์ยีลด์ของกองก็ค่อนข้างสูง โดยตลาดประเมินปี 2563 และปี 2564 ที่ 10.14% และ 10.24% ตามลำดับ สำหรับการประมาณการกำไรปี 2563-2564 Bloomberg Consensus ประเมินเฉลี่ยที่ 8.35 พันล้านบาท และ 8.6 พันล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง ลดลง 22% จากปีก่อน (YoY), เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ตามลำดับ ราคาเป้าหมาย Bloomberg Consensus 11.62 บาท
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า JASIF ได้จ่ายเงินปันผลงวดไตรมาส 1/2563 จำนวน 0.24 บาทต่อหน่วย และไตรมาส 2/2563 อีก 0.255 บาทต่อหน่วย ส่วนไตรมาส 3 นักวิเคราะห์คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลประมาณ 0.25 บาทต่อหน่วย
          บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI แนะลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง แนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการ นอกจากนี้ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองก็น่าจะทำให้เกิด downside ในกลุ่มค้าปลีก ดังนั้นยังคงเลือก JASIF และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF เป็นกองเด่น เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 6.3-9.3% ในปี 2562 และ 3.6-5.1% ในงวดครึ่งปีแรก 2563 ในขณะที่ผลประกอบการรายไตรมาสก็ยังดูแข็งแกร่งและมั่นคง โดยสรุปมองว่ากองเหล่านี้ดูน่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน
          บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FNS มองกลุ่มกองทุนฯ ว่าน่าสนใจมากขึ้นจากราคาที่ปรับฐาน ประกอบกับสภาวะตลาดที่ผันผวนในปัจจุบันทำให้การกระจายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำทำให้น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนที่มีสินทรัพย์ซึ่งถูกกระทบจำกัดจาก COVID-19 ได้แก่ โรงไฟฟ้า โทรคมนาคม
          โดยปัจจุบันให้ Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ในระดับที่จูงใจราว 7.6% โดยเลือก Top Pick เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGATIF, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF และ JASIF
          ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ถึงกำหนดการจ่ายเงินปันผล DIF จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1ก.ค.-30 ก.ย. 2563 ในอัตราหน่วยละ 0.2610 บาท
          โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 11 พ.ย. 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 4 ธ.ค. 2563
          ขณะที่ นางสาวนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส Chief Investment Officer บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure fund) ยังคงน่าลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเงินปันผลที่เฉลี่ยในระดับสูง
          และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ (DIF) ก็เป็นหนึ่งในกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์น่าลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนเงินปันผลดีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8-7% ต่อปี ขณะเดียวกันสินทรัพย์ที่อยู่ในกองทุน DIF ก็ยังดีเช่นเดิม สัญญาการเช่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในฐานะผู้บริหารกองทุน DIF ก็มั่นใจว่า Outlook ยังดี เพราะสินทรัพย์ดี มีคนเข้ามาเช่าเหมือนเดิม SCBAM ดูแลเรื่อง Performance ของ DIF เป็นหลัก
          “เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา DIF ได้มีการเพิ่มทุนโดยการนำสินทรัพย์เข้าไปเพิ่ม พร้อมกับขยายอายุกองทุนออกไปเป็น 15 ปี ด้วย Asset และอายุของกองทุน ทำให้ผลตอบแทนเงินปันผลก็ยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตราสารหนี้ที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ดังนั้นอินฟราฯ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และเชื่อว่า DIF ยังมีช่องว่างในการใส่สินทรัพย์เข้าไปเพิ่มเติมในอนาคตได้ เพราะธุรกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ตยังเป็นเทรนด์อยู่” นางสาวนันท์มนัส กล่าว