ลุ้น"พิชญ์"แปลงJAS-W3 JASIFปันผลยีลด์สูง13%

Published on 2020-03-24   By ข่าวหุ้น
ผู้ถือหุ้น JAS ไฟเขียวออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 153 ล้านหุ้น เพื่อรองรับแปลงสิทธิ JAS-W3 “พิชญ์” ลั่นจะใช้สิทธิหรือไม่! ยึดผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นหลัก โบรกฯเชียร์ซื้อ JASIF ดิวิเดนด์ยีลด์สูง 13% ฟาก กสทช. คลอด 2 มาตรการ หนุนประชาชนทำงานที่บ้านสกัดโควิด-19
          นางสาวสายใจ คีตสิน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 76,762,315 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 4,777,685,533 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 4,854,447,848 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 153,524,630 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 3 (JAS-W3)
          ทั้งนี้ ในปัจจุบันราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิฯ คือ 3.605 บาท/หุ้น และอัตราการใช้สิทธิ คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทได้ 1.192 หุ้น โดยผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิฯ สามารถแสดงความจำนงใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทได้ตั้งแต่วันนี้ (24 มี.ค. 2563) ถึงวันที่ 30 มี.ค. 2563
          สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนและการใช้เงินทุนในส่วนที่เพิ่ม เพื่อนำไปชำระคืนหนี้สินของบริษัท และกลุ่มบริษัท เช่น เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามความเหมาะสม และนำเงินคงเหลือไปลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม หรือเพื่อการดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท
          ขณะเดียวกันประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ในกรณีที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิฯ เพื่อซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทก็จะได้รับสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นและได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของบริษัท
          โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด สำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562 ในอัตรา 1.26-1.50 บาท/หุ้น โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD หรือผู้ซื้อไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลวันที่ 20 เม.ย. 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 พ.ค. 2563
          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 3 (JAS-W3) มีกำหนดการใช้สิทธิในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนหุ้นของบริษัทภายหลังวันที่ 31 มี.ค. 2563 เพิ่มขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงยังไม่สามารถกำหนดจำนวนที่แน่นอนของอัตราเงินปันผลจ่ายต่อหุ้นได้
          โดยจะจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงสุด 1.50 บาท/หุ้น ในกรณีที่จำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท เท่ากับ 8,210,367,374 หุ้น (จำนวนหุ้นปัจจุบัน) และอัตราต่ำสุด 1.26 บาท/หุ้น ในกรณีที่จำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท เท่ากับ 9,708,895,696 หุ้น (ในกรณีที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิฯ แจ้งความจำนงใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิฯ คงเหลือทั้งจำนวนในวันที่ 31 มี.ค. 2563)
          ทั้งนี้ บริษัทจะทราบจำนวนหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในจำนวนที่แน่นอนแล้วภายหลังวันที่ 31 มี.ค. 2563 และบริษัทจะรีบแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไปโดยเร็ว บริษัทจึงขอให้ผู้ลงทุนโปรดใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท เพราะอัตราเงินปันผลจ่ายยังมีความไม่แน่นอน
          ด้านนายพิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ JAS และ JAS-W3 กล่าวว่า การตัดสินใจจะใช้สิทธิแปลงสภาพ JAS-W3 เป็นหุ้นสามัญหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกคน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชญ์ โพธารามิก เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ JAS โดยถือหุ้นจำนวน 4,572,490,053 หุ้น คิดเป็น 55.69% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด
          * JASIF ดิวิเดนด์ยีลด์ปีนี้สูง 12.8%
          บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF หลังมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ราคาปัจจุบันมี P/NAV ต่ำเพียง 0.7 เท่า ต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าตลาดฯปี 2558 ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ”
          ทั้งนี้ให้ราคาพื้นฐานที่9.60 บาท ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) ปี 2563 สูงที่ 12.8% และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ 11.9% และถึงแม้บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB จะไม่ต่อสัญญาเช่ากับกองทุนเมื่อหมดสัญญาในเดือน ม.ค. 2575 ราคาพื้นฐานอยู่ที่ 7 บาท ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนกรณีเลวร้ายสุด (Worse case) แล้ว
          โดยปรับลดสมมติฐานการปรับอัตราค่าเช่า ซึ่งตามสัญญา TTTBB จะปรับอัตราค่าเช่าให้กองทุนตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ในอัตรา 0-3% แต่เราคาดว่า CPI ปี 2563 จะติดลบจากราคาน้ำมันที่ลดลงแรง ทำให้การเพิ่มอัตราค่าเช่าในปี 2563 จะเป็น 0 แล้วค่อยเป็นบวก 1.5% ในปี 2565
          สำหรับภาระดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มลดลง หลังอัตราดอกเบี้ยในระบบอยู่ในทิศทางขาลง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีประชุมนัดพิเศษลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% (จาก 1% เป็น 0.75%) ไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 และมีโอกาสลดลงอีกในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. 2563 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0% ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีหนี้สินจากการซื้อสินทรัพย์เข้ากองทุนฯรอบที่ 2 ในช่วงที่ผ่านมา 1.5 หมื่นล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทุก ๆ 0.25% จะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายกองทุนลดลง 40 ล้านบาท (ปัจจุบัน JASIF จ่ายอยู่ในอัตรา 6.0-6.25%)
          *กสทช.ออก 2 มาตรการช่วยปชช.
          พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากมาตรการส่งเสริมการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาและสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับได้นำผลการประชุม ตามที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ขอความร่วมมือ สำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาประชุมหารือเป็นการเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563
          ดังนั้น ที่ประชุม กสทช. วานนี้ (23 มี.ค. 2563) จึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบโดยเร่งด่วน เนื่องจากสิ่งที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทำงาน ขณะทำงานที่บ้าน คือ บริการทางด้านโทรคมนาคม
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.ได้นัดประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป
          โดยมาตรการช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย 1.สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือนให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ สนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563
          ทั้งนี้ ใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ ครม.มีมติเท่านั้น ให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช.กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช.นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่
          “คาดว่าจะสามารถสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมมาตรการนี้ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนนี้จะขอความเห็นชอบ ครม.ให้หักจากเงินค่าใบอนุญาตที่ประมูลได้” นายฐากร กล่าว
          และ 2.สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน เป็นเวลา 3 เดือน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ โดยกรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps จากปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่อยู่ที่ 8 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้  2 ล้านครัวเรือน ยังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช.จะหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 730 ล้านบาท