สุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล 3BB แนะ2แนว เกิด"5G"ในไทย

Published on 2019-11-02   By มติชน

สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศแผนโรดแมป ขับเคลื่อน 5G ของไทยออกมาแล้ว ทั้งราคาประมูลคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่แบบมัลติแบนด์ กฎกติกาที่ให้เอกชนลงทุนบนผลประโยชน์ 5G ที่ประเทศไทยจะได้รับต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นปีละ 5.68% ของจีดีพี ตั้งแต่ปี 2563-5273 แบ่งเป็น 1.45% จากการใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง และ 4.23% จากระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ
          ไม่เกินกลางปี 2563 ประเทศไทยก็จะเข้ายุค 5G
          สุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายใต้ชื่อ "3BB" ให้ความเห็นประเด็นรัฐบาลและ กสทช.กำหนดให้ปี 2563 ประเทศไทยต้องเกิด 5G ว่า เราจะมองและทำความเข้าใจจากทั้ง 2 ฝั่งคือ รัฐบาลและบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) พยายามหาจุดลงตัวด้วยกัน ภาครัฐต้องสนับสนุนหรืออุดหนุนด้วยวิธีการต่างๆ
          ถ้ามองจากฝั่งของภาครัฐ แน่นอนภาครัฐต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะมองถึงการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในอุตสาหกรรม เป้าหมาย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศและรองรับการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรม อื่นๆ โดยโครงการที่เริ่มเห็นเป็นรูปร่าง เห็นความคืบหน้าแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าประมาณ 2.2 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าประมาณ 2.9 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสีต่างๆ โครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น
          หากมองจากฝั่งของโอเปอเรเตอร์ก็จะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เร็วเกินไป ทั้งในแง่ต้นทุนราคาอุปกรณ์ และกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้บริการหลังจากนี้ ประมาณ 2-3 ปี
          เมื่อพิจารณาจากทั้งสองฝั่งแล้ว ในปี 2563 จะเหมาะสมสำหรับการเริ่มต้น ถ้าเงื่อนไขการประมูลและราคาเอื้ออำนวย ผ่อนคลายและจูงใจในการลงทุน
          ส่วนที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับราคาประมูล 5G คุณสุพจน์ระบุว่า สืบเนื่องมาจากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวไว้แล้ว เห็นว่าราคาการประมูลควรจะถูกลง โดยเฉพาะในย่านความถี่สูงที่จะต้องอาศัยสถานีฐานจำนวนมากในพื้นที่การใช้งานหนาแน่น การใช้เงินลงทุนในระบบ 5G มีจำนวนเงินลงทุนสูงกว่าการลงทุนระบบ 3G-4G มาก ในระบบ 5G ต้องรองรับอุปกรณ์ปลายทางที่มีความต้องการหลากหลาย ทำให้ต้องใช้ความถี่ผสมผสานทั้งความถี่ต่ำและความถี่สูง ต้องลงทุนติดตั้งเซลล์ไซต์จำนวนมาก แตกต่างจากระบบ 3G-4G ที่สามารถใช้ประโยชน์จากย่านความถี่ต่ำได้มาก มูลค่าความถี่ที่นำมาใช้ในระบบ 5G จึงควรลดทอนมูลค่าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านความถี่ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีระยะใช้งานในระยะประมาณ 200 เมตรเท่านั้น
          คุณสุพจน์ยังให้ความเห็นถึงการวางกฎเกณฑ์อย่างไรเพื่อให้การประมูล 5G เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายว่า ในเรื่องกฎเกณฑ์การประมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของผู้ใช้บริการและประเทศ เห็นว่าต้องออกแบบกฎเกณฑ์ให้เอื้อในการเกิดผู้เล่นรายใหม่อย่างแท้จริง เช่น การแบ่งสล็อตในแต่ละย่านความถี่ที่เพียงพอสำหรับการประมูลของรายใหม่ เป็นต้น
          นอกจากนี้ควรกำหนดจำนวนความถี่ที่แต่ละรายสามารถถือครองให้เหมาะสม อาทิ ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่มีแถบความถี่ 2700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) แต่ตามข่าวที่ออกมามีการกำหนดการถือครองสูงสุดของแต่ละรายถึง 1200MHz ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดทางเทคนิคที่เป็นไปได้ที่ 800 MHz รวมทั้งตัวอย่างการจัดสรรในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี ก็กำหนดไว้ 800MHz เช่นกัน นอกจากนี้ยังควรแบ่งคลื่นความถี่ในแต่ละย่านความถี่ไว้สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่เป็นการเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการสร้างการแข่งขันในตลาด รวมทั้งควรแบ่งความถี่สำหรับกิจการประจำที่ Fixed Broadband ที่สามารถใช้ประโยชน์จากย่านความถี่สูงในระบบ 5G ด้วย ดังเช่นกรณี Verizon ในประเทศสหรัฐอเมริกา
          ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนกำลังเร่งเปิดตัว 5G ชิงประกาศความเป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยี 5G คุณสุพจน์เห็นว่า การเกิด 5G ในประเทศไทยไม่ได้เป็นเครื่องการันตีในการเป็นผู้นำอาเซียนในทุกด้าน เพราะยังมีองค์ประกอบหลักอื่นๆ อีกหลายด้านที่ต้องประกอบเข้าด้วยกัน เพียงแต่บอกได้ว่าถ้าไม่มี 5G โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนจะเป็นไปได้ยาก
          หากต้องการให้ 5G เกิดขึ้นในปีหน้าตามเป้าหมายของภาครัฐและ กสทช. จะต้องหาจุดลงตัวเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนของฝั่งโอเปอเรเตอร์ ซึ่งอยากเสนอเป็นแนวทาง 2 รูปแบบ
          รูปแบบแรก ในปีหน้าเปิดประมูลและให้บริการในพื้นที่เป้าหมายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาจรวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา EEC ของรัฐบาลเป็นเป้าหมายแรก และเป็นการลดขนาดและลดความเสี่ยงการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ไปด้วย หลังจากนั้นเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในแง่ต้นทุนราคาอุปกรณ์และกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการ จึงเปิดประมูลในส่วนที่เหลือทั้งประเทศ
          รูปแบบที่สอง ถ้าภาครัฐและ กสทช.ต้องการเปิดประมูลครอบคลุมทั้งประเทศ จะเกิดความเสี่ยงในการลงทุนของโอเปอเรเตอร์
          รัฐต้องสนับสนุนและอุดหนุน หรือสร้างเงื่อนไขที่จูงใจในการลงทุน
          เป็น 2 แนวทางที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเก็บไปพิจารณาเพื่อหาทางที่ดีที่สุดสำหรับ 5G ในไทย--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2562 (กรอบบ่าย)--