TRUE สนซื้อกิจการ JAS หวังกินรวบบรอดแบรนด์ ตลท.จับตา JAS ใกล้ชิด ผิดปกติพร้อมส่งก.ล.ต.

Published on 2019-07-26   By ข่าวหุ้น

 TRUE สนใจเข้าซื้อกิจการ JAS หวังขึ้นเป็นเจ้าตลาดธุรกิจบรอดแบนด์ กินรวบมาร์เก็ตแชร์กว่า 70% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง ADVANC ที่มีมาร์เก็ตแชร์แค่ 8% เหตุ ADVANC จ้องเทกโอเวอร์ JAS จ่อแซง TRUE เช่นกัน ฟาก ตลท.จับตา JAS ใกล้ชิด พร้อมรายงานก.ล.ต.หากพบผิดปกติ ยันข่าวลือตามตัวยาก
          แหล่งข่าววงการสื่อสาร เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีความสนใจเข้าเจรจาซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) ของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เนื่องจากต้องการครองส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เกือบทั้งหมดของธุรกิจบรอดแบนด์ และต้องการทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่มีความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของ JAS เหมือนกัน
          โดยปัจจุบัน TRUE ครองมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจบรอดแบนด์อันดับหนึ่ง มีลูกค้าอยู่ที่ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 38% ขณะที่บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB บริษัทในเครือ JAS มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่อันดับ 2 มีลูกค้าอยู่ที่ 3.01 ล้านราย คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 32% ซึ่งหาก TRUE สามารถเจรจาได้ข้อสรุปในการซื้อกิจการของ JAS ได้สำเร็จจะส่งผลให้ TRUE กลายเป็นเจ้าตลาดธุรกิจบรอดแบนด์และมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70% ทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่าง ADVANC ที่ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์อยู่อันดับที่ 4 มีลูกค้าอยู่ที่ 795,000 ราย คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์เพียงประมาณ 8%
          ดังนั้น TRUE มีความตั้งใจที่จะปิดดีลซื้อ JAS ให้สำเร็จ เนื่องจาก ADVANC เองก็มีการติดต่อเข้าซื้อกิจการ JAS เหมือนกัน เพราะปัจจุบัน ADVANC มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ประมาณ 8% หากเจรจาซื้อ JAS สำเร็จมาร์เก็ตแชร์จะเพิ่มขึ้นไปกว่า 40% ซึ่งสามารถแซงหน้า TRUE ได้ทันที
          อย่างไรก็ตาม แม้ทางบริษัท JAS เองจะออกมาแจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ข่าวการเจรจาขายหุ้นให้กับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรายไม่เป็นความจริง และบริษัทไม่ได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของอัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทแต่อย่างใดนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากดีลการเจรจายังไม่สำเร็จ และยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะการเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจาดีลในระดับของผู้ถือหุ้นใหญ่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
          ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า มาร์เก็ตแชร์ของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปี 2558 TRUE มีสัดส่วนอยู่ที่ 38.3% 3BB (JAS) มีสัดส่วนอยู่ที่ 32.3% และ ADVANC มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.7% ส่วนในปี 2559 TRUE มีสัดส่วนอยู่ที่ 38.4% 3BB (JAS) มีสัดส่วนอยู่ที่ 33.5% และ ADVANC มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ในปี 2560 TRUE มีสัดส่วนอยู่ที่ 38.4% 3BB (JAS) มีสัดส่วนอยู่ที่ 33.2% และ ADVANC มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.3% และในปี 2561 TRUE มีสัดส่วนอยู่ที่ 37.9% 3BB (JAS) มีสัดส่วนอยู่ที่ 32% คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 10% และ ADVANC มีสัดส่วนอยู่ที่ 8%
          นอกจากนี้ ในส่วนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจบรอดแบนด์อยู่ในอันดับ 3 มีลูกค้าประมาณ 1.2-1.4 ล้านราย คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 10%
          JAS ปฏิเสธเจรจาขายกิจการ
          เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา นางสาวสายใจ คีตสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ว่าบริษัทมีการเจรจาขายหุ้นให้กับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรายนั้น ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และบริษัทไม่ได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของอัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทแต่อย่างใด
          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้พิจารณาแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนรองรับ ทั้งจากตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อทำให้ศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเจรจากับธนาคารและพันธมิตรทางธุรกิจ แต่การเจรจาดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ บริษัทขอเรียนว่าบริษัทไม่ได้นำเงินไปชำระหนี้ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
          ตลท.จับตา JAS ใกล้ชิด
          นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะกระแสข่าวลือต่าง ๆ ซึ่งยอมรับว่า ตรวจสอบค่อนข้างยากว่าแหล่งข่าวมาจากที่ใด
          แต่อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ JAS ชี้แจงถึงกระแสข่าวที่ออกมา รวมถึงให้รายงานว่าข่าวอะไรที่มีสาระสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วย
          “ข่าวที่ออกมาต้องศึกษาและตรวจสอบว่ามาจากไหน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันยากมาก และสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำได้คือ รายงานให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการต่อ” นายภากร กล่าว
          นายภากร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายทะลุ 200,000 ล้านบาท และโบรกเกอร์ส่งมอบหุ้นไม่ทัน มีกระแสข่าวและมีการสันนิษฐานว่ามีการทำ Naked Short ด้วยนั้น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างเรียกโบรกเกอร์เพื่อรายงานให้ทราบถึงการส่งมอบหุ้นไม่ทันว่ามีสาเหตุจากเรื่องใด รวมถึงการหารือเพื่อรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
          “ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้โบรกเกอร์รายงานว่า เหตุการณ์ส่งมอบหุ้นไม่ทันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หากอธิบายไม่ได้ ก็จะมีความผิดก็เป็นไปตามความผิดนั้น ๆ นอกจากนี้ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหารือคือการเตรียมความพร้อมในอนาคตหากเกิดขึ้นอีก” นายภากร กล่าว