บจ.กำไร"แผ่ว"ไตรมาส4หุ้นใหญ่"พลังงาน-แบงก์"ฉุด

Published on 2018-11-19   By กรุงเทพธุรกิจ

ปริวัฒน์ หินพลอย
          กรุงเทพธุรกิจ
          บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่ ได้ประกาศกำไรในงวดไตรมาส 3 ปี 2561 ออกมาแล้ว พบว่ากำไรบจ. โดยรวมยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบธุรกิจใน หลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจสายการบิน ที่โดนราคาน้ำมันกดดันต้นทุน จนขาดทุนกันแทบทุกบริษัท หรือแม้กระทั่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัล แต่ก็ ยังสามารถบริหารจัดการทำให้กำไรเติบโต ได้ต่อ เมื่อรวมกับผลการดำเนินงานของ กลุ่มใหญ่ อย่างพลังงานและปิโตรเคมี ที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้กำไรบจ.โดยรวมในไตรมาสนี้เติบโตได้ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
          "ภรณี ทองเย็น" รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์  (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การประกาศผลประกอบการของบจ.ในงวดไตรมาส 3 ปี 2561 ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทที่ประกาศงบฯแล้วประมาณ 556 บริษัท หรือคิดเป็น 92% ของมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ
          โดยมีการทำกำไรสุทธิรวมกันได้ประมาณ 2.56 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกันเฉพาะบจ.ที่ประกาศงบฯ กับช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ขณะที่หากนับเฉพาะรายกลุ่มอุตสาหกรรม (Real Sector) ในงวดไตรมาส 3 ปี 2561 นี้ ทำกำไรสุทธิรวมกัน 1.88 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น21.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อนและปรับเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า  ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกันเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า คือ กลุ่มพลังงาน (PTT PTTEP BGRIM BCP EGCO EA), กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC และ IVL), กลุ่มยานยนต์ (STANLY), กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ (DELTA), กลุ่มขนส่ง (BEM BTS), กลุ่มค้าปลีก (COM7 HMPRO CPALL BJC), กลุ่มรับเหมาฯ (PYLON SEAFCO CK ITD STEC STPI), กลุ่มโรงพยาบาล (BCH BH BDMS)
          ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตเมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า  คือกลุ่มสื่อ-บันเทิง (MAJOR), กลุ่มท่องเที่ยว (CENTEL), กลุ่มเกษตร (STA) ขณะที่กลุ่มที่กำไรสุทธิ เติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม (หลักๆ มาจาก CBG TFG TU) กลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า  คือ กลุ่ม ICT (จาก ADVANC, INTUCH, DTAC, JAS และ JASIF), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC), และกลุ่ม อสังหาฯ (CPN LH SIRI)
          อย่างไรก็ตาม ตามที่ฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิของตลาดทั้งปี 2561 ไว้ที่ 1.07 ล้านล้านบาท โดยงวดครึ่งปีแรกทำ กำไรสุทธิรวมกันได้ 5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของประมาณการทั้งปี ขณะที่ผลการดำเนินงานรวมในงวดไตรมาส 3 นี้ทำได้ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาท ส่งผลให้เบื้องต้นบริษัทยังคงประมาณการกำไรปีนี้ ไว้เช่นเดิมก่อน
          นอกจากนี้ แนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 คาดจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ปี 2561 เนื่องจากปัจจัยหลัก มาจากกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่  มีแนวโน้มผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง เช่น กลุ่มพลังงาน,ธนาคารพาณิชย์, ไอซีที และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง  ตรงข้ามกลุ่มที่มีแนวโน้มผลการ ดำเนินงานเติบโตขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอย ปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม รวมทั้งสนามบิน-สายการบิน จากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ของฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อาจจะมีน้ำหนักไม่มากพอเมื่อเทียบกับแรงกดดันจากหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่
          ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ กล่าวว่า กำไรสุทธิของบจ.ไทยในไตรมาส 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน  และ 3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งใกล้เคียงที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ เพราะหาก ไม่นับรายการพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน กลุ่มพลังงานและไฟฟ้า กำไรจากการ ดำเนินงานปกติในงวดไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้น เพียง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 4% จากไตรมาสก่อนหน้า
          ขณะที่กำไรของตลาดหุ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 12% จากช่วง เดียวกันของปีก่อน ซึ่งเมื่อเทียบกับ ประมาณการปี 2561 ของเราที่คาดว่าจะโต 13% หมายความว่ากำไรในไตรมาส 4 ปี 2561 จะต้องเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ถึงจะทำให้กำไรปีนี้เป็นไป ตามประมาณการซึ่งค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากกำไรของกลุ่มพลังงานอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลงแรง โดยอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2561 ที่ต่ำกว่าประมาณการที่คาดไว้ 111.88 บาทต่อหุ้น ทุกๆ 1% จะทำให้เป้าหมายดัชนีฯ ปีนี้ลดลง 17 จุด จากเป้าหมายปัจจุบันที่ 1,785 จุด
          ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุ หลังจากการประกาศผลประกอบการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ คาดว่าผลกำไรข้างต้น น่าจะสูงเกิน 2.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ผลประกอบการรวม 9 เดือนของปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 8.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 73.6% ของประมาณการกำไรตลาดทั้งปี ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ด้วยผลประกอบการ ในงวดไตรมาส 4 ของตลาดหุ้นไทย ที่มักจะดีกว่าไตรมาส 3 เสมอ ดังนั้น จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่ตลาดจะทำการปรับลดคาดการณ์อัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ปัจจุบันที่อยู่ระดับ 108 บาทต่อหุ้น