"พิชญ์"สยบไอ้โม่ง ลือทิ้งหุ้นMONO ยันไม่มีแผนขาย

Published on 2018-05-14   By ข่าวหุ้น
“พิชญ์” สยบข่าวลือ! ไอ้โม่งปล่อยข่าวเล็งเทขายหุ้น MONO ที่ถืออยู่ทั้งหมด 64.20% ออกมา ลั่นไม่เป็นความจริง-ยืนยันไม่มีแผนขายหุ้น MONO พร้อมการันตีผลงานไตรมาส 2-4 ดีกว่าไตรมาสแรก ฟาก JAS ฉลุย! ผู้ถือหุ้นอนุมัติขายสินทรัพย์เข้า JASIF ส่วนเพิ่ม มูลค่า 50,000-70,000 ล้านบาท คาดขายได้เร็วสุดปลายปี 61 หรือช้าสุดต้นปี 62
          นายพิชญ์  โพธารามิก  ประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวลือว่าตนเองจะขายหุ้น MONO ที่ถืออยู่ทั้งหมด จำนวน 2,228.36 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 64.20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดออกมานั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และไม่มีแผนที่จะขายหุ้นออกมาทำลายหุ้นของตนเองแน่นอน
          ขณะที่แนวโน้มธุรกิจทีวีกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี และมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยผลประกอบการไตรมาส 1/2561 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่นของอุตสากรรม และแนวโน้มผลประกอบการจากนี้ตั้งแต่ไตรมาส 2-4 ของปี 2561 คาดว่าจะดีขึ้น
          “มีข่าวลือว่าผมจะขายหุ้น MONO ที่ถืออยู่ทั้งหมด 64.20% ออกมา ผมขอยืนยันไม่เป็นความจริง และจะไม่มีการขายหุ้นมาทำลายราคาหุ้นตัวเองแน่นอน ขณะที่ธุรกิจทีวีกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี รายได้เติบโตต่อเนื่อง ส่วนไตรมาสแรกโดยปกติเป็นโลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรม และแนวโน้มผลประกอบการจากนี้ไป ตั้งแต่ไตรมาส 2-4 จากนี้คาดว่ามีแต่จะดีขึ้น” นายพิชญ์ กล่าว
          ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 MONO มีกำไรสุทธิ 19.47 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 3.68 ล้านบาท หรือลดลง 15.90% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 ที่มีกําไรสุทธิ 23.15 ล้านบาท และมีรายได้รวม 640.15 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 7.10 ล้านบาท หรือลดลง 1.10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 ที่มีรายได้ 647.25 ล้านบาท
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น MONO เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พ.ค. 2561 ปรับตัวลงแรง 4.85% มาปิดตลาด 3.14 บาท หรือลดลง 0.16 บาท ตามแรงเทขายของนักลงทุน หลังมีไอ้โม่งปล่อยข่าวลือว่านายพิชญ์  โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MONO จะมีการเทขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 64.20% ออกมา ส่งผลให้การซื้อขายระหว่างราคาหุ้น MONO ปรับลงไปต่ำสุดที่ราคา 3.06 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 371.29 ล้านบาท
          * JAS เตรียมขายทรัพย์เข้า JASIF
          นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการจำหน่ายทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มไม่เกิน 980,000 คอร์กิโลเมตรของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF หลายครั้งในช่วงเวลา 1-3 ปี โดยมีมูลค่ารายการสูงสุดประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท (ธุรกรรมการขายทรัพย์สินส่วนเพิ่ม)
          สำหรับการขายสินทรัพย์ส่วนเพิ่ม แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ขายเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มให้แก่ JASIF จำนวนประมาณ 750,000-850,000 คอร์กิโลเมตร มูลค่ารายการประมาณ 35,000-45,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2562 ส่วนครั้งที่ 2 ขายเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มที่เหลือให้แก่ JASIF จำนวนประมาณ 130,000-230,000 คอร์กิโลเมตร เสร็จสิ้น มูลค่ารายการประมาณ 15,000-25,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากธุรกรรมการขายทรัพย์สินส่วนเพิ่มครั้งที่ 1
          “การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ขายสินทรัพย์เข้า JASIF แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ทาง JASIF เรียกประชุม หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการในการยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่ออนุมัติต่อไป ซึ่งก.ล.ต.ก็จะใช้กรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติหลังจากยื่นไฟลิ่งเป็นระยะเวลา  120 วัน ซึ่งอาจจะเร็ว ก็น่าจะจบภายในสิ้นปี 2561 หรืออาจจะล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 1/2562 ก็ขึ้นอยู่กับ ก.ล.ต.” นายพิชญ์ กล่าว
          นอกจากนี้ ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ TTTBB เข้าทำสัญญาเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม จำนวน 80% ของเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม โดยมีระยะเวลาประมาณ 12 ปี และสัญญาการประกันรายได้ค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม จำนวน 20% ของเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 980,000 คอร์กิโลเมตร กับ JASIF รวมมูลค่าประมาณ 39,599-54,892 ล้านบาท (ธุรกรรมการเช่าทรัพย์สินส่วนเพิ่ม) เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจต่อไป แบ่งเป็นธุรกรรมการเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม ครั้งที่ 1 รวมประกันรายได้ค่าเช่า มีมูลค่าประมาณ 27,711-51,152 ล้านบาท และธุรกรรมการเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม ครั้งที่ 2 รวมประกันรายได้ค่าเช่า มีมูลค่าประมาณ 3,740-11,888 ล้านบาท
          ขณะเดียวกันที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการจองซื้อหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของ JASIF เพิ่มเติม ในเบื้องต้นคาดว่าจะจองซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 1 ใน 3 หรือประมาณไม่เกิน 33.33% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ทั้งหมดของ JASIF มูลค่าสูงสุดประมาณ 16,667-23,333 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกรรมการจองซื้อหน่วยลงทุนครั้งที่ 1 มูลค่าสูงสุดประมาณ 11,667-15,000 ล้านบาท และธุรกรรมการจองซื้อหน่วยลงทุนครั้งที่ 2 มูลค่าสูงสุดประมาณ 5,000-8,333 ล้านบาท
          ทั้งนี้ การทำธุรกรรมดังกล่าว คาดว่าบริษัทจะได้รับเงินสดประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่ JASIF ประมาณ 30,000 ล้านบาท ไปใช้ในการขยายธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการขยาย FTTx ในส่วนของ last mile คืนเงินกู้ระยะสั้น ชำระคืนหนี้สินของบริษัท และจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น
          ส่วนจะมีการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนฯ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ในอนาคต มองว่าเมื่อธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง มีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการของTTTBBหรือลูกค้า 3BBอยู่ที่ 5 ล้านราย ในปี 2563 ตามเป้าหมาย และ EBITDA เติบโต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมี JASIF3
          นายพิชญ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทวางงบลงทุนในปี 2561 ไว้ที่ 7,000-10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายโครงข่าย FTTx ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุม 80% ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2561 ส่วนจำนวนลูกค้าคาดว่าแต่ละไตรมาสลูกค้า 3BB จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ราย จากในไตรมาส 1/2561 บริษัทมีลูกค้า 3BB อยู่ที่ 2.8 ล้านราย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เจวีเอส ที่ปรึกษาทางการเงิน จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้จัดทำรายงานความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเกี่ยวกับรายการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์สำหรับ JAS
          โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ประเมินว่าหลังเข้าทำรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ JAS และบริษัทย่อย จะได้รับเงินจากการระดมทุนในการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่ JASIF ประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่ายในการออกกองทุนฯ เพิ่มเติม คาดว่าไม่เกิน 1,500 ล้านบาท เงินลงทุนในสินทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบในอนาคต 559-989 ล้านบาท สำรองค่าขออนุญาตพาดสายเส้นใยแกว้นำแสง 964 ล้านบาท และค่าภาษีประมาณ 8,880-12,883 ล้านบาท JAS และบริษัทย่อยจะมีสถานะทางการเงินดีขึ้น โดยจะมีกระแสเงินสดก่อนเงินลงทุนใน JASIF ประมาณ 37,668-54,094 ล้านบาท
          ขณะที่หลังเข้าทำรายการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์ JAS และบริษัทย่อยจะบันทึกกำไรจากการเข้าทำรายการ โดยคาดว่า บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB จะบันทึกกำไร (ก่อนภาษี) จากการจำหน่ายสินทรัพย์ประมาณ 20,258-40,513 ล้านบาท และ JAS จะบันทึกกำไร (ก่อนภาษี) จากการขายทรัพย์สินเป็นจำนวน 13,505-27,009 ล้านบาท (หลังจากหักรายการกำไรที่ยังไม่รับรู้เป็นจำนวน 1 ใน 3 ตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของ JAS ใน JASIF)
          นายพิชญ์ กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่าบริษัทจะมีการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ร่วมกับพันธมิตรจีนเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง น่าจะเป็นข่าวเก่าคราวที่แล้วเมื่อปี 2558 ที่บริษัทได้เข้าประมูลคลื่น 900 MHz และบริษัทไม่มีแผนเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz อยู่แล้ว
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณีถ้า JAS ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz หากมีการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีความเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้อง เป็นนอมินีกับ JAS ทางกสทช.ก็ตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมประมูลเช่นกัน