ลุ้นผู้ถือหุ้นJASไฟเขียว ขายสินทรัพย์เข้าJASIF จ่อฟันกำไรหมื่นล้าน ลุ้น JASIF ปันผล 23 สต.

Published on 2018-05-11   By ข่าวหุ้น

จับตา JAS วันนี้เปิดประชุมวิสามัญ ลุ้นผู้ถือหุ้นโหวตอนุมัติขายสินทรัพย์ TTTBB ให้ JASIF คาดฟันกำไรจากการขายกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประกาศงบ Q1 โชว์กำไรเด้ง 757 ล้านบาท ฐานลูกค้า “3BB” พุ่ง 2.8 ล้านราย ฟาก JASIF วงการเงินฟันธงแม้งบ Q1 กำไรลด แต่ไม่กระทบปันผล คาดจ่าย 0.23 บาทต่อหน่วย
          จากกรณีในวันนี้ (11 พ.ค.) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS มีกำหนดเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยต้องจับตาวาระสำคัญ คือ การขอพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF
          โดยในการประชุมวิสามัญของ JAS จะมี 4 วาระสำคัญที่จะขอผู้ถือหุ้นอนุมัติ ได้แก่ 1.พิจารณาอนุมัติการจำหน่ายทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มให้แก่ JASIF 2.พิจารณาอนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์โดยการเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มจาก JASIF และการประกันรายได้ค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มให้แก่กองทุน
          3.พิจารณาอนุมัติการเข้าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของ JASIF และ 4.พิจารณาอนุมัติมอบหมายบุคคลให้มีอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเข้าทำรายการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ ดังรายละเอียดปรากฏตามวาระที่ 1-3 ข้างต้น
          ด้านนายพิชญ์  โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS กล่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 11 พ.ค. 2561 ทางบริษัทจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการขายทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มไม่เกิน 980,000 คอร์กิโลเมตรของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ให้แก่ JASIF มูลค่าประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท รวมถึงการเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม และประกันรายได้ค่าเช่าแก่ JASIF และการจองซื้อหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของ JASIF
          สำหรับการขายสินทรัพย์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1 ขายเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มให้แก่ JASIF จำนวนประมาณ 750,000-850,000 คอร์กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 35,000-45,000 ล้านบาท ส่วนครั้งที่ 2 ขายเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มที่เหลือให้แก่ JASIF จำนวนประมาณ 130,000-230,000 คอร์กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 15,000-25,000 ล้านบาท
          ทั้งนี้ หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว จากนั้นจะทำการยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่ออนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อไป และในช่วงปลายปี 2561 น่าจะกำหนดการขายได้ ซึ่งยืนยันว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมของ JASIF
          ส่วน JAS จะได้เงินจากการขายสินทรัพย์ส่วนเพิ่มเข้า JASIF เท่าไร ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่หากเทียบกับการขายสินทรัพย์เข้า JASIF ครั้งแรก มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ทาง JAS ได้รับเงินสดประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่ JASIF ไปใช้ในการขยายธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการขยาย FTTx ในส่วนของ last mile รวมถึงชำระคืนหนี้สินและจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น
          *แจ้งงบ Q1 กำไรพุ่ง 757 ล้าน
          นายพิชญ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2561 ทางบริษัทมีกำไรสุทธิ 757 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 693 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงานจำนวน 4,507 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 4,447 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจาก TTTBB
          ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานของ TTTBB ในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ระดับ 4,452 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน อีกทั้งยังมีลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,736 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของลูกค้า FTTx
          ขณะเดียวกัน ณ สิ้นไตรมาสแรกยังมีลูกค้าที่ใช้บริการของ 3BB จำนวนทั้งสิ้น 2.8 ล้านราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการ FTTx ประมาณ 4.41 แสนราย และล่าสุดทาง 3BB ยังได้ออกแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ 10 Mbps ที่ราคา 250 บาทต่อเดือน สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้เน้นการใช้งานความเร็วสูงมาก
          นายพิชญ์ กล่าวอีกว่า งวดไตรมาส 1/2561 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 566 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 320 ล้านบาท และหักรายการสำรองหนี้สงสัยจะสูญของ 3BB จำนวน 59 ล้านบาท สำรองประมาณหนี้สินตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทจำนวน 3 ล้านบาท และบันทึก Deferred Tax จำนวน 66 ล้านบาท ดังนั้น กำไรสุทธิของบริษัทจึงอยู่ที่ 758 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
          ด้าน JASIF มีรายได้รวมในไตรมาสแรก 1,461 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,451 ล้านบาท และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ วันที่ 31 มี.ค. 2561 เท่ากับ 58,802.15 ล้านบาท คิดเป็น 10.6913 บาทต่อหน่วย และคิดเป็นยีลด์ประมาณ 8%
          *JASIF กำไรลดไม่กระทบปันผล
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2560 มีกำไรสุทธิ 1.31 พันล้านบาท หรือกำไรสุทธิต่อหน่วยที่ 0.24 บาท ลดลง 61.6% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน
          ขณะที่ บล.บัวหลวง ระบุว่า กำไรที่ปรับลงมาจากการขาดทุนจากการประเมินมูลค่าใหม่ของสายใยแก้วนำแสง 9.8 แสนคอร์กม. ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงและไม่ใช่รายการเงินสดจำนวน 56 ล้านบาท
          “กำไรสุทธิต่ำกว่าคาด 4% แต่กำไรหลักถือว่าเป็นไปตามคาด JASIF ยังคงไม่ได้ประกาศเงินปันผลต่อหน่วย ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มอยู่ที่ 0.23 บาทต่อหน่วยสำหรับไตรมาส 1/2561 ทั้งนี้ รายการขาดทุนข้างต้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ในไตรมาส 1/2561 ถือว่าเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดและไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน”
          ทั้งนี้ บล.บัวหลวง ระบุว่า อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของ JASIF ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 8% ในปี 2561 ซึ่งดูน่าสนใจมากกว่าอัตราตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 2.9% และอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีซึ่งอยู่ที่ 2.7% การโอนสายใยแก้วนำแสงครั้งใหม่อีกจำนวนไม่เกิน 9.8 แสนคอร์กม. ณ สิ้นปี 2561 หรือภายในไตรมาส 1/2562 ถือว่าเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ซึ่งจะประเมินใหม่อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3/2561 หรือไตรมาส 4/2561 จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูงราคาเป้าหมายพื้นฐาน 12.50 บาท
          ขณะที่คาดการณ์กำไรหลักไตรมาส 2/2561 ที่ 1.37 พันล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น 0.7% โดยอ้างอิงกับดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2560 คาดรายได้ค่าเช่าไตรมาส 2/2561 ที่ 1.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบปีก่อน และทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสที่ผ่านมา
          ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเดิมว่าธุรกรรมการโอนสายใยแก้วนำแสงใหม่เข้า JASIF ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกหนุนกำไรสุทธิต่อหน่วยและเงินปันผลต่อหน่วยของกองทุนให้เพิ่มขึ้นในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีต้องมีการระดมเงินทุนผ่านการเพิ่มทุนและการก่อภาระหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นก็ตาม