เปิดเบื้องลึกซื้อหุ้นจัสมินฯกุนซือ''พิชญ์''สร้างบิ๊กดีลแห่งปี 

Published on 2016-11-17   By ฐานเศรษฐกิจ

ห้ามขายหุ้นJASที่ซื้อคืนภายในระยะเวลา1ปี

          เปิดเบื้องลึกความสำเร็จดีลยักษ์แห่งปี ซื้อหุ้นคืนของ "พิชญ์ โพธารามิก" มากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุน จนสามารถดันราคาหุ้นจัสมินพุ่งพรวดแตะ 10.20 บาท

          ความสำเร็จในการซื้อหุ้นคืนของนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการตลาดทุน เนื่องจากเป็นการประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่ถือเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดของปีนี้ ที่เจ้าของกิจการประกาศกล้าซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน โดยการสนับสนุนเงินทุนทั้งหมดจากธนาคาร ไทยพาณิชย์เพียงรายเดียว

          ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้านายพิชญ์ ไม่ได้ที่ปรึกษามือดีที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับธนาคารต้นสายในการให้สินเชื่อ และแน่นอนที่สุดหากแนวคิดของที่ปรึกษา ไม่จูนเข้าหากัน ผนวกกับความกล้าของนายพิชญ์แล้ว ดีลนี้ย่อมไม่เกิดแน่นอน

          หากคำนวณจากหุ้นที่พิชญ์ ถืออยู่ทั้งหมด หลังซื้อหุ้นคืนแล้ว 4,295 ล้านหุ้น คิดเป็น 72.35% โดยราคาขึ้นไปสูงสุด 10.20 บาท (10 พ.ย. 59) ทำให้พิชญ์ รวยขึ้นทันทีไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

          การซื้อหุ้นคืนของนายพิชญ์ครั้งนี้ มีกำไรจากส่วนต่าง 2.95 บาท ของราคาที่ซื้อคืน 7.25 บาท ยังไม่นับรวมจากเงินปันผลที่ได้รับอีก 2 ครั้ง

          บุคคลที่มีส่วนสำคัญผลักดันให้ความกล้า ของพิชญ์ กลายเป็นความมั่งคั่งในพริบตา เพราะพิชญ์ มีคนร่วมคิดที่ชื่อ "ชาญ บูลกุล" หรือ มาชานลี ที่มีคนบอกกล่าวว่า ฝีมือขั้นเทพ ในการผ่าตัดปรับ

          โครงสร้างหนี้ระดับมือพระกาฬ จากมูลค่าหนี้ที่ปรับนับตัวเลขแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขึ้นไปถึงระดับ 4-5 หมื่นล้านบาท ด้วยคอนเนกชันของ "มาชานลี" และมุมมองการแก้ปัญหาหนี้เฉียบขาดทะลุปรุโปร่ง

          มาชานลีกุนซือJAS

          "มาชานลี" เป็นที่ปรึกษาให้กับ จัสมิน ส่งผ่านมาตั้งแต่รุ่นพ่อ "อดิศัย โพธารามิก" หลายๆ ดีล ของ จัสมิน ไม่มีสักครั้ง ที่พิชญ์ ไม่เคยคิดถึง "มาชานลี" การซื้อหุ้นคืนของพิชญ์ ก็เช่นกัน ใครจะกล้าคิดว่า เขาจะกล้าสู้และทุ่มเงินขนาดนี้ซื้อหุ้นคืน แม้กระทั่ง "มาชานลี" ก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน

          มาชานลี เล่าว่า การทำดีลซื้อหุ้นคืนนี้ ใช้เวลาเพียงเดือนเศษเท่านั้น ตั้งแต่ที่เจ้าของหรือ พิชญ์ หารือต้อง การถือหุ้นให้ได้จำนวนหนึ่ง ที่พอจะ ควบคุมการบริหารได้ ซึ่งการคิดเช่นนี้ แน่นอนว่า เจ้าของต้องกลัวกิจการถูกเทกโอเวอร์ จึงต้องรวบหุ้นไว้ในมือแต่เพียง ผู้เดียว

          เมื่อเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจบรอดแบนด์ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจำนวนแสนรายแล้ว แผนการรวบหุ้น จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นแรกที่ พิชญ์ ถือหุ้น 25.84% และจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บในกระดานและการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ (JAS- W 3) เข้าข่ายที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์)

          วิ่งขอสินเชื่อไทยพาณิชย์

          เมื่อ "ชาญ" คิด "พิชญ์" กล้าทำ แล้ว ขั้นต่อไป การวิ่งเข้าไปเจรจากับธนาคาร เงินจำนวนไม่น้อย ธนาคารที่ปล่อยกู้ต้องมีความคุ้นเคยระดับหนึ่ง จึงพุ่งเป้าไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานได้ปล่อยสินเชื่อการทำธุรกิจให้กับจัสมิน 6,000 ล้านบาท ประกอบกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้การกู้ครั้งนี้ไม่ยากนัก

          ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้สินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ประมูลใบอนุญาต 4จี เนื่องจากยังไม่เคยใช้สินเชื่อธนาคารนี้ แต่การไปขอสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ เพราะเป็นธนาคารที่ใช้บริการมานาน แต่สินเชื่อ 4จีเป็นวงเงินที่สูง ธนาคารต้องการให้นายพิชญ์ค้ำประกันส่วนตัว

          ปันผลคืนหนี้

          แต่เหตุผลสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ กล้าปล่อยกู้ 4.2 หมื่นล้านบาท นี้ผู้ปล่อยต้องมั่นใจว่า พิชญ์ สามารถคืนเงินกู้ได้ นั่นก็เพราะเขาถือหุ้นจำนวนมากพอ 60-70 % หลังจากซื้อหุ้นคืนแล้ว ผลประกอบการดี มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ เมื่อพิชญ์ถือหุ้นใหญ่เงินปันผลที่ได้ย่อมมากขึ้น ก็นำปันผลมาทยอยจ่ายเงินกู้ได้ หรืออนาคต หากพิชญ์ ต้องการยกขายหุ้นให้ใคร ก็ซื้อง่าย-ขายคล่อง

          หลังจบจากตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืนแล้ว หุ้นที่รับซื้อจากรายย่อยทั้งหมด 324.9 ล้านหุ้น หรือ 5.47% ไม่สามารถขายออกได้ภายใน 1 ปี นับจากวันซื้อ แต่ถ้าพิชญ์ เงินเหลือก็ซื้อในตลาดได้ โดยต้องถือหุ้นอย่างน้อย 1 ปี และด้วยราคาหุ้นที่สวิงผันผวนนี้ ทำให้ยากต่อการคำนวณมูลค่าแท้จริงของกำไรที่ได้รับ แต่อนาคตเมื่อธุรกิจดี จะเป็นตัววัดมูลค่าความรวยของเขา

          ไม่คิดลดทุน

          มาชานลี กล่าวอีกว่า จัสมิน ไม่จำเป็นต้องลดทุน เพราะการลดทุนต้องดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่กับธุรกิจ หรือมีความต้องการใช้เงินหรือไม่ หากบริษัทมีเงินเหลือ การซื้อหุ้นคืนน่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการฝากเงินธนาคาร ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน

          ก่อนหน้านี้บริษัท JAS ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืน ในราคา 5 บาท จำนวน 1,200 ล้านหุ้น คิดเป็น 16.82% ครบกำหนด 1 ปี ที่บริษัทจะขายหุ้นคืนออกมาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 14 - 16 ธันวาคม 2559 ต้องจับตาดูอีกครั้งว่า "พิชญ์" จะเข้ามาเก็บหุ้นส่วนนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากทำเช่นนี้เขาก็ได้หุ้นเพิ่ม บริษัทก็ได้กำไรจากการขายหุ้น