"ตลท."การันตีหุ้น"JAS" ซื้อหุ้นคืนไม่ผิดเกณฑ์ จับตาเจรจากับแบงก์ใกล้ลงตัว 

Published on 2016-03-17   By ข่าวหุ้น

  ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยการซื้อหุ้นคืนของ JAS กำหนดราคาประมาณ 5 บาท อาจไม่ผิดเกณฑ์ แต่จะมองเรื่องความเหมาะสม และเป็นไปได้หรือไม่ ด้าน “บัณฑูร ล่ำซำ” เผยเรื่อง JAS เป็นความลับลูกค้า บอกไม่ได้ ส่วนวงในฟันธง JAS หาแบงก์การันตีได้ทัน และอาจทำให้ราคาหุ้นปรับลงแรงอีกครั้ง ก่อนดีดขึ้นจากข่าวความคืบหน้าการรับซื้อหุ้นคืน ด้าน “เอไอเอส" แจงลูกค้าใช้งานบนคลื่น 900MHz ใน Lot 1 / 5MHz ที่เป็นของ JAS

          นางเกศรา มัญชุศรีกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยต่อข้อถามที่ว่า การซื้อหุ้นคือของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JASจะต้องใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน หรือย้อนหลัง 1 ปี (กำหนดราคาประมาณ) 5 บาท ว่า ก็ต้องดูว่าการขอซื้อหุ้นคืนของ JAS จะเกินหรือต่ำกว่า 10% เพราะหากเกินกว่า 10% ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อน หลังจากนั้นจะมีการกำหนดราคาซื้อหุ้นคืนที่แน่นอนได้ ซึ่งจะมีเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้อยู่แล้ว

          หรือหาก JAS ต้องการซื้อคืนไม่เกิน 10% ก็จะมีเกณฑ์กำหนดรายละเอียดไว้ในขั้นตอนเหล่านั้นแล้วเช่นกัน

          “จริงๆ เราก็รอคำตอบจาก JAS อยู่ หลังส่งหนังสือไปถามเขาเกี่ยวกับระยะเวลา และราคาหุ้นที่จะรับซื้อคืน ซึ่งก็ต้องรอผลการประชุมบอร์ดของ JAS” นางเกศรา กล่าวและว่า

          “จริงๆ การขอซื้อหุ้นคืนก็มีเกณฑ์ว่าจะขอซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% และมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ ดังนั้น จึงไม่มีการใส่กรอบไว้ หรือเงื่อนไขใดๆ แต่จะดูตามความเป็นไปได้ และความเหมาะสม”

          อนึ่ง จากเกณฑ์การขอซื้อหุ้นของตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ว่า หากซื้อหุ้นคืนเกิน 10% และเป็นการขอซื้อคืนแบบเป็นการทั่วไป หรือ General Offer จะไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ของราคาที่จะรับซื้อคืนไว้

          อย่างไรก็ดี นางเกศรา กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่าราคาที่ขอซื้อคืนเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการผิดหลักเกณฑ์อะไรหรือเปล่า ดังนั้น จึงต้องรอความชัดเจนออกมาจากแจสก่อน

          แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นกลุ่มสื่อสารราคาดีดตัวกลับมารอบนี้ เนื่องจากคาดว่า JAS จะไม่สู้ต่อ แต่ตอนนี้เริ่มมั่นใจว่าแจสต้องชำระเงินให้กับ กสทช. แน่นอน เพราะบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ชำระไปแล้ว และที่ผ่านมาทรูมีการเรียกร้องมาตลอดว่าถ้ามีการประมูลใหม่ต้องเริ่มต้นที่กว่า 7 หมื่นล้านบาท ไม่เช่นนั้น ทรูจะไม่ชำระ แต่ตอนนี้ทรูต้องมีความมั่นใจว่าแจสจะต้องชำระ ทรูจึงมีการชำระเงินให้ กสทช. แล้ว

          ขณะเดียวกันการขอซื้อหุ้นคืน เริ่มกำหนดสัดส่วนระหว่างผู้ถือหุ้นในประเทศ และต่างประเทศ ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาว่าแจสจะขอซื้อหุ้นคืนในราคา 5 บาทนั้น ถือว่ามีส่วนในการผลักดันราคาหุ้นให้ปรับขึ้น

          “ถ้าแจสหาแบงก์การันตีได้ ราคาหุ้นแจสจะมีการปรับตัวลงในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นมาได้จากความคาดหวังการรับซื้อหุ้นคืนของแจสที่ระดับราคาประมาณ 5 บาทต่อหุ้น”

          แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ฟันธงได้เลยว่ายังไงแจสก็มีเงินมาจ่ายให้ กสทช. แน่นอน

          นายบัญฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า แนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ภาครัฐต่างๆ ธนาคารยังคงใช้หลักการพิจารณาสินเชื่อหลักการเดียวกับพิจารณาสินเชื่อแบบอื่นๆ ดังนั้น กรณีการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มสื่อสารและกลุ่มพลังงาน ธนาคารก็จะใช้หลักการพิจารณาสินเชื่อในหลักการนี้เช่นกัน โดยธนาคารจะเน้นเรื่องกระแสเงินสดเป็นหลัก

          ทั้งนี้ ตราบใดที่ธนาคารพิจารณากระแสเงินสดของผู้ขอสินเชื่อแล้วพบว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โอกาสที่จะมีการเจรจากันต่ออาจจะต้องยุติลงไป เพราะถ้ากระแสเงินสดของลูกค้าไม่ดีสร้างหนี้ให้กับธนาคารก็ถือว่าเป็นความเสี่ยง

          ส่วนกรณีของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ที่สามารถคว้าการประมูลคลื่น 4 จี ความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ กรณีดังกล่าวธนาคารไม่ขอพูด เพราะเป็นความลับลูกค้า

          "ภาพรวมการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ว่ากรณีใดก็ตามจะมีขีดจำกัด ภายในตัวของมันเอง ไม่ใช่จะเลือกใช้เฉพาะแค่กลุ่มสื่อสารหรือกลุ่มพลังงานเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของกระแสเงินสดเป็นหลัก กรณีที่ปล่อยกู้ให้ไม่ได้ก็แสดงว่าธนาคารมีการพิจารณาแล้วพบว่ากระแสเงินสดของลูกค้ามีผลต่อการก่อหนี้ให้กับตัวธนาคารจนเกิดความเสี่ยง ธนาคารก็คงต้องหยุดการพิจารณา แต่หากกระแสเงินสดออกมาดีไม่มีความเสี่ยงของลูกค้าธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้ได้ " นายบัณฑูร กล่าว

          ด้านนางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เอไอเอสพยายามมุ่งมั่นดูแลลูกค้าทุกรายที่อยู่บนระบบคลื่นความถี่ย่าน 900MHz และเตรียมแผนรองรับผลกระทบอย่างดีทุกวิถีทาง ประกอบด้วย 1.การทำจดหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ถึง 3 ครั้งคือ วันที่ 30 ตุลาคม 2558, วันที่ 4 มกราคม 2559 และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อขอให้ชะลอการสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 900MHz อย่างน้อยถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 เพื่อให้เวลาลูกค้าที่เหลืออยู่ดำเนินการโอนย้ายได้ทัน 2.จัดเตรียมเครื่องโทรศัพท์มือถือทดแทนให้ฟรี สำหรับลูกค้าที่ยังคงถือเครื่อง 2G ให้เปลี่ยนเป็น 3G หรือ 4G และ 3.เดินหน้าขยายเครือข่าย 3G และ4G อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านบาท

          แม้ว่าเอไอเอสจะดำเนินการทุกวิถีทางแล้วแต่เนื่องด้วยเอไอเอสมีลูกค้ามากถึงกว่า 40 ล้านราย ส่งผลให้ยังคงมีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ในบนระบบคลื่นความถี่ย่าน 900MHz จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอขยายระยะเวลาการเยียวยาออกไป

          ส่วนข้อเสนอของทรูมูฟ เอช ที่ยื่นผ่าน กสทช.มานั้น เอไอเอสขอขอบคุณในความปรารถนาดี แต่เอไอเอสไม่อาจรับข้อเสนอดังกล่าวได้ เนื่องจากคลื่นของ ทรูมูฟ เอช อยู่ที่ Lot 2 ในปัจจุบัน เอไอเอสใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ใน Lot ที่ 1 ซึ่งยังไม่มีการติดต่อมาชำระเงินค่าประมูล การที่จะเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 900MHz ใน Lot ที่ 2 ของ ทรูมูฟ เอช จึงกระทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น

          อีกทั้งขอเสนอของเอไอเอสที่มีไปยัง กสทช.นั้น เอไอเอสต้องการใช้คลื่น 900MHz ใน Lot ที่ 1 เพียง 5 MHz ซึ่งเอไอเอสเสนอเรื่องขอใช้คลื่นดังกล่าวกับกสทช.เพื่อพิจารณาคลื่นให้เอไอเอสนำไปใช้ในการดูแลผู้ใช้บริการต่อไป

          อย่างไรก็ตาม เอไอเอสเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐอย่างกสทช.หรือภาคเอกชนอย่างผู้ให้บริการทุกรายต่างมีความตั้งใจในการดูแลผู้บริโภคมาโดยตลอด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับการใช้บริการระบบสื่อสารในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในครั้งนี้

          อนึ่ง การใช้งานบนคลื่น 900MHz ใน Lot 1 / 5MHz ของเอไอเสครั้งนี้ จะเป็นส่วนของ JAS ที่ประมูลได้

          ด้านทรูออกหนังสือชี้แจงว่า ตามที่วานนี้ ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้บริโภคบนคลื่น 900MHz ยังคงใช้บริการได้ต่อไปอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2559 เวลา 24.00 น. นั้น ทรูมีความยินดีต่อคำตัดสินของศาลดังกล่าว ที่สร้างความชัดเจนถึงระยะเวลาในการดูแลผู้ใช้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 30 วัo

          ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นไป การดำเนินกิจการในใบอนุญาตของทรูจะเป็นไปด้วยความสมบูรณ์ภายใต้กรอบเงื่อนไขของการประมูลอย่างแท้จริง และความชัดเจนนี้จะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีต่อกระบวนการประมูลและการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมของประเทศไทย

          พร้อมกันนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ทรูยินดีที่จะปรับกำหนดการ เร่งสร้างเครือข่าย 2G บนคลื่น 900 /1800MHz ให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เทียบเคียงกับระบบ 2G ของเอไอเอสเดิม ให้ทัน 14 เมษายน 2559 เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากซิมดับ ผู้ใช้บริการจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้บริการบนคลื่น 900MHz บนเครือข่ายของทรูมูฟ เอช  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้บริโภคชาวไทยทุกคน

          ทั้งนี้ สำหรับผู้ใช้บริการบนคลื่น 900MHz ที่ได้รับการดูแลให้ใช้งานได้ต่อเนื่องอีก 1 เดือนนั้น ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ใช้บริการจะเร่งทำการย้ายค่าย เพื่อให้สามารถใช้บริการด้วยเบอร์เดิมได้และซิมไม่ดับ โดยทรูมูฟ เอช จึงจัดแคมเปญพิเศษการใช้งานเครือข่าย 2G บนคลื่น 900 /1800MHz ทั่วประเทศ เพื่อรองรับก่อนวันสิ้นสุดการดูแลใน เวลา 24.00 น. ของวันที่  14 เมษายน 2559