JAS-TRUEพร้อมจ่ายเงิน ค่าคลื่น900วันที่15ม.ค. "ประจิน" ถกกสทช.เคลียร์ 2600 MCOT วันนี้

Published on 2016-01-13   By ข่าวหุ้น

          “JAS-TRUE” พร้อมจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 งวดแรกรายละ 8,040 ล้านบาท และวางแบงก์การันตี เร็วสุด 15 ม.ค.นี้ หรือช้าสุด 18 ม.ค.นี้ ขณะที่วันนี้ “ประจิน” นัดคุยกสทช.เคลียร์คลื่น 2600 ของ MCOT ส่วน ADVANC ขอขยายเวลาเยียวยาไม่มีวาระเข้าพิจารณาในบอร์ด กทค.

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับประสานจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JASMBB บริษัทในเครือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS เป็นผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท

          และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC บริษัทในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE เป็นผู้ชนะประมูลชุดที่ 2 ช่วงความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ด้วยราคา 76,298 ล้านบาท ว่าอย่างเร็ว คือ ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2559 หรืออย่างช้าในวันที่ 18 ม.ค. 2559 จะนำเงินค่าประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองทางการเงินจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) มาชำระให้ครบถ้วนพร้อมกันทั้ง 2 บริษัท ซึ่งล่าสุด JAS ระบุว่าการอนุมัติวงเงินกู้ของบริษัทกับธนาคารกรุงเทพได้เข้าสู่วาระที่ประชุมบอร์ดธนาคารกรุงเทพไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

          นอกจากนี้ ในวันนี้ (13 ม.ค.) เวลา 13.30 น. สำนักงาน กสทช.จะหารือร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายศิวพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT เพื่อหารือในประเด็นแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ 2600 MHz โดยปัจจุบันคลื่นย่านดังกล่าว อยู่ในการครอบครองของ MCOT จำนวน 120 MHz

          ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.มีความเห็นว่าหากนำคลื่น 2600 MHz มาเปิดประมูลเพื่อให้บริการ 4G จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศ ถือเป็นการคลื่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบัน MCOT ใช้คลื่น 2600 MHz เพื่อให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก หรือเคเบิลทีวีเท่านั้น โดยในเบื้องต้น MCOT ยอมคืนคลื่น 2600 MHz ให้จำนวน 60 MHz เป็นอย่างน้อย ภายใต้เงื่อนไขว่า กสทช.ต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาการคืนคลื่นให้ MCOT ในอัตราที่เหมาะสม

          “การหารือกับท่านรองนายกฯ ประจิน เพราะเราต้องการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต ซึ่งในย่าน 2600 MHz นี้ หาก MCOT ยอมคืน 60 MHz ก็จะแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz โดยทางเทคนิคคลื่น 2600 MHz เหมาะกับการให้บริการดาต้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถให้บริการวอยซ์ได้ ส่วนเรื่องเงินเยียวยาที่ต้องจ่ายให้กับ MCOT ก็ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาอัตราการจ่ายเงินเยียวยาคืนให้เหมาะสมอีกครั้ง” นายฐากร กล่าว

          นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ลงมติเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าบริการ 4G ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz แล้ว โดยค่าบริการจะต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการระบบ 3G บนคลื่น 2100 MHz ที่ปัจจุบันบริการด้านเสียงอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาที และบริการด้านข้อมูลอยู่ที่ 0.26 บาทต่อเมกะบิต ซึ่งจากอัตราค่าบริการ 3G ดังกล่าวนี้ ทำให้ต่อไปหากผู้ประกอบการจะทำโปรโมชั่นสำหรับ 4G จะต้องต่ำกว่าอัตราดังกล่าวทุกแพ็กเก็จ

          พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทค.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 แก่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM หลังจากที่มีหนังสือลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 เนื่องจากประสงค์จะสร้างดาวเทียมดวงใหม่ดวงที่ 9 เพื่อให้บริการ โดยเป็นดาวเทียมให้บริการที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก

          โดยที่ประชุมมีมติให้ THCOM ใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ที่ THCOM มีอยู่เดิม ซึ่งได้รับใบอนุญาตไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2555-25 มิ.ย. 2575 ซึ่งมีขอบเขตการอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้เช่าและเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม (Sattellite Network) ผ่านการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม (Transponder) ในลักษณะให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม โดยใช้ตำแหน่งวงโครจรที่ 120 องศาตะวันออก และให้เขียนแนบท้ายใบอนุญาตโดยเห็นชอบการให้บริการโครงข่ายเพิ่มเติม ตามแผนธุรกิจที่ THCOM เสนอ

          สำหรับเหตุผลการขอใบอนุญาตดังกล่าว เนื่องจากดาวเทียมดาวใหม่ซึ่งจะมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องใช้ระยะเวลาในการประสานงานความถี่เพิ่มเติมรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการออกแบบดาวเทียม การจัดสร้างและการจัดส่งดาวเทียม ทั้งสิ้นประมาณ 1-7 ปี ซึ่ง THCOM เห็นว่าหากขออนุญาตเพิ่มเติมการให้บริการดาวเทียมดวงที่ 9 ภายใต้ใบอนุญาตที่ได้รับอยู่ ทำให้ดาวเทียมดวงใหม่มีความเสี่ยงไม่สอดคล้องกับแผนการลงทุน

          นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กทค.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ไม่มีการเสนอวาระการขยายเวลาเยียวยาลูกค้า 2G คลื่น 900 MHz ของ ADVANC ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.อยู่ระหว่างเตรียมวาระ และเชื่อว่าทางสำนักงาน กสทช.จะเร่งรัดในการเสนอต่อบอร์ด กทค.

          ทั้งนี้ การดูแลลูกค้า 900 MHz ถือว่าเป็นวาระที่ต้องเร่งพิจารณา เนื่องจากหากผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz มาชำระเงินงวดแรกพร้อมวางแบงค์การันตี และสำนักงาน กสทช.ออกใบอนุญาตให้แล้วก็จะส่งผลให้ลูกค้าที่อยู่ในระบบ 2G ของ ADVANC ที่มีประมาณ 11 ล้านเลขหมาย ได้รับผลกระทบจากซิมดับได้