JASเจรจาCATเช่าเสาโทรคม พ่วงเช่าคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการเสียง

Published on 2015-12-28   By ข่าวหุ้น

 “JAS” เจรจา CAT ขอเช่าใช้เสาฯ 1,000-1,300 ต้น และขอเช่าคลื่น 850 MHz เพื่อนำไปให้บริการเสียง ด้าน CAT ยันให้เช่าเสาฯ ที่อยู่ในข้อพิพาทได้ ขณะนี้ศึกษายุติข้อพิพาท 2 รูปแบบ ทั้งตั้งกองทุน-บริษัทร่วมทุน พร้อมตั้งทีมเจรจาDTAC ปรับปรุงคลื่น 1800 ทำ 4G
          พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัทและรักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JASMBBบริษัทย่อยของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้เข้ามาเจรจาเรื่องขอเช่าใช้เสาโทรคมนาคม จำนวน 1,000-1,300 ต้น โดย CAT มีเสาที่เป็นของบริษัทเองอยู่จำนวน 2,000 แห่ง ส่วนที่ทรัพย์สินที่อยู่ในสัมปทานมีอยู่กว่า 8,000-9,000 แห่ง และในส่วนที่เป็นของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด อีก 15,000 แห่ง
          ส่วนกรณีของเสาโทรคมนาคมที่ยังอยู่ในข้อพิพาทนั้น สามารถเอามาให้เช่าใช้ได้ เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นสามารถจัดเก็บไว้ก่อนได้ และเมื่อมีข้อยุติ ผู้ชนะก็ได้ส่วนนั้นไป นอกจากนี้ JASMBB ยังเข้ามาเจรจาเพื่อ ขอเช่าใช้คลื่น 850 MHz ที่เป็น 3G เพื่อนำไปให้บริการเสียงด้วย เนื่องจาก JASMBBต้องการนำคลื่น 900 MHz ที่ได้จากการประมูลมา ไปให้บริการอินเตอร์เน็ตบนโมบายเท่านั้น
          ทั้งนี้ ความคืบหน้าการปรับปรุงเทคโนโลยี LTE บนคลื่นความถี่ 1800 MHz คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้แต่งตั้งทีมเจรจาระดับคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของ CATเพื่อเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เกี่ยวกับความร่วมมือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution (LTE) บนคลื่นความถี่ 1800 MHz Upper Band เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำ 4G ตามที่ กสทช.มีมติอนุมัติให้มีการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ม.ค. 2559
          นอกจากนี้ บอร์ดได้รับทราบความคืบหน้าในการเจรจากับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เรื่องการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคม และการจัดซื้อระบบสื่อสัญญาณ โดยการยุติข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์เสาสัญญาณนั้น อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การนำเสาโทรคมนาคมเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ซึ่งรูปแบบนี้จะสามารถดำเนินการได้เลยโดยที่ CAT ได้ Cash Flow จำนวนหุ้นที่ประเมินเป็นมูลค่าหนึ่ง รวมถึงได้สิทธิทางภาษี
          ขณะที่รูปแบบที่ 2 คือ การนำเสาโทรคมนาคมจัดการตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับมติ คนร.โดย CAT และ TRUE ถือหุ้นร่วมกันในลักษณะเดียวกับความร่วมมือกับ DTAC อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นรูปแบบใด แต่ทั้ง 2 รูปแบบจะดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ TRUE โอนกรรมสิทธิ์เสาทั้งหมดให้กับ CAT ก่อน          สำหรับการซื้อคืนระบบสื่อสัญญาณ BFKT นั้นยังไม่สามารถบรรลุข้อสรุป เนื่องจากมองว่าราคาที่ TRUE เสนอสูงเกินไป   ดังนั้น CAT ได้ขอให้ TRUE ส่งหลักฐานต้นทุนที่แท้จริง (BOQ) แต่ยังไม่ได้รับ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ประเมินความคุ้มค่าการลงทุนได้ ส่งผลให้การซื้อคืนระบบสื่อสัญญาณล่าช้า ซึ่ง CAT ต้องมีภาระค่าเช่าระบบโครงข่ายฯ บอร์ดจึงมีมติให้ได้ข้อสรุปแนวทางที่ชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่ CAT อาจจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินการขั้นต่อไป            ก่อนหน้านี้ TRUE ได้เสนอราคาขายระบบสื่อสัญญาณ BFKT ประกอบด้วยต้นทุนอุปกรณ์ค่าติดตั้ง ค่าธรรมเนียมการไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่อง ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน ค่าธรรมเนียมบริหารโครงการ รวมทั้งดอกเบี้ย (ส่วนเพิ่มราคาจากการซื้อล่าช้า) ซึ่ง CAT มองว่านอกจากราคาที่สูงเกินไปแล้ว การคิดดอกเบี้ยจากความล่าช้าดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจาก CAT ยืนยันขอซื้อตั้งแต่ปี 2556 และจ่ายค่าเช่าให้กับ TRUE มาโดยตลอด ซึ่งควรหักลบกันได้เพื่อให้ราคาที่เสนอขายไม่สูงเกินไป