JASทุนแกร่งBBLหนุน บริษัทย่อยคุ้มทุนปีแรก เตรียมดัน JASMBB เข้าตลาดหุ้นปีหน้า

Published on 2015-12-25   By ข่าวหุ้น

 บริษัทย่อยคุ้มทุนปีแรก
          เตรียมดัน JASMBB เข้าตลาดหุ้นปีหน้า
          “JAS” ย้ำเงินทุนแข็งแกร่ง มี BBL หนุนกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปี 59 กวาดลูกค้า 2 ล้านราย ถึงจุดคุ้มทุนทันที ลั่นเปิดตัวพันธมิตรไตรมาส 1/59 เตรียมนำ JASMBB เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 ทันทีด้วยเกณฑ์พิเศษ
          นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ในฐานะกรรมการ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JASMBB เปิดเผยว่า บริษัทยืนยันถึงความพร้อมในการดำเนินธุรกิจโมบายอย่างแน่นอน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก และหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จำนวน 75,654 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์โครงข่ายประมาณ 25,000 ล้านบาท
          ทั้งนี้ เงินลงทุนทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสถาบันการเงิน และคู่ค้าแล้ว โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งโครงการจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ทั้งค่าใบอนุญาตงวดแรก และแบงก์การัตี รวมถึงวงเงินกู้ต่างๆ ด้วย ซึ่งบริษัทจะขอเข้ารับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นหลังจากชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก และแบงก์การันตีแล้ว ก็สามารถเริ่มให้บริการได้ทันที
          ขณะเดียวกันบริษัทได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์โครงข่ายจากบริษัท หัวเหว่ย ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายหลักอุปกรณ์ของโครงข่ายในลักษณะของซัพพลายเออร์ เครดิตที่สามารถผ่อนชำระได้ โดยในปีแรกตั้งเป้าหมายติดตั้งสถานีฐาน 15,000 แห่ง ครอบคลุมมากกว่า 90% ของจำนวนประชากร ประกอบด้วยการเช่าใช้จากรัฐวิสาหกิจ 2 ราย ในช่วงแรกเพื่อความรวดเร็วในการให้บริการ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งให้ได้ข้อสรุป จากนั้นจะให้ซัพพลายเออร์เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้ และในระยะยาวเป็นการติดตั้งสถานีฐานเอง
          นอกจากนี้ หลังจากบริษัทได้ทำการสำรวจลูกค้าบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 2 ล้านครัวเรือน มีลูกค้าจำนวนหนึ่งได้แสดงความสนใจที่จะใช้บริการโมบายของบริษัท และมีรัฐวิสาหกิจ และเอกชนหลายรายติดต่อเข้ามาด้วย รวมทั้งพร้อมรองรับลูกค้า 2G ของ ADVANC กว่า 10 ล้านรายด้วย
          “3BB ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 2 ล้านครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีลูกค้าเฉลี่ยใช้งาน 5 รายในการต่อ WiFi โดย 60% ของการใช้งาน 5 ราย เป็นการใช้ผ่านมือถือ และอีก 20% เป็นการใช้ผ่านเครื่องพีซี ดังนั้น เชื่อว่าลูกค้าที่ใช้มือถืออยู่แล้วก็จะเปลี่ยนมาใช้แบรนด์น้องใหม่อย่างเรา” นายพิชญ์ กล่าว
          ดังนั้น เดือนแรกๆ คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเป็นหลักแสนราย ด้วยบริการ ราคา และความสามารถในการให้บริการโครงข่ายที่ดีกว่า ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ก่อน โดยตั้งเป้าหมายในปีแรก หรือปี 2559 มีลูกค้า 2 ล้านราย ซึ่งจะทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนทันที และในปีที่ 3 หรือปี 2561 มีลูกค้าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย จะทำให้บริษัทมีกำไร
          “ผลประกอบการในปี 2559 ของ JAS มั่นใจจะยังมีกำไรสุทธิ ไม่มีผลขาดทุนอย่างแน่นอน หากสามารถขยายฐานลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการโมบายได้ตามเป้า 2 ล้านราย จะถึงจุดคุ้มทุน และจะมีกำไรเมื่อมีลูกค้า 5 ล้านราย” นายพิชญ์ กล่าว
          ประกอบกับมีแผนนำ JASMBB เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2559 จากเดิมในปี 2561 เนื่องจากมีระเบียบกำหนดให้สาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมเข้าระดมทุนได้ทันที ซึ่งเมื่อ JASMBB เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น JAS ด้วย
          โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นกลางปี ก.ล.ต.อนุมัติ และสามารถเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ โดยก่อนเสนอขายหุ้น IPO จะเพิ่มทุน JASMBB จาก 350 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท
          สำหรับความคืบหน้าเจรจาหาพันธมิตรต่างชาตินั้น ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติหลายราย ให้ความสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนใน JASMBB ซึ่งจะเลือกพันธมิตรเข้ามาเพียงรายเดียวเท่านั้น คาดว่าจะเปิดตัวได้ในไตรมาส 1/2559 โดยเข้ามาให้ถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% โดย JAS ยืนยันว่าจะคงสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน JASMBB หรือสัดส่วนมากกว่า 50% แต่กรณีไม่มีพันธมิตร JAS จะถือหุ้น JASMBB ในสัดส่วน 75%
          :TRUE ยินดี JAS เข้ามาในตลาด
          นายนพปฏล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า จากการที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ TRUE ชนะประมูลได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz มูลค่าเงินประมูล 39,792 ล้านบาท กับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz มูลค่าเงินประมูล 76,298 ล้านบาทนั้น ภายใน
          ใน 4-5 ปี บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณแสนล้านบาท
          โดยจะเป็นการลงทุนในโครงข่ายระบบด้านอุปกรณ์ จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขยายโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุม 97% ทั่วประเทศ รวมถึงจำนวนเงินที่ใช้ในการประมูลอีกจำนวนหนึ่ง โดยประเมินว่าเงินลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนไม่มาก ซึ่งหากประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง AIS, DTAC และ TRUE มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
          ส่วนกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ JASเป็นผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ที่ราคา 75,654 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และเกินความคาดหมายของตลาด โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า TRUE กับ AIS จะเป็นผู้ชนะการประมูลดังกล่าว ขณะเดียวกันขอยกย่อง JAS ที่มีความกล้าหาญที่จะเข้ามารับภาระขนาดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
          นอกจากนี้ กรณีที่คลื่น 900 MHz มีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีก 2 ราย จากเดิมที่มี AIS เพียงค่ายเดียวที่ให้บริการ ประเมินว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีตัวเลือกให้ผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ขณะเดียวกันสำหรับผู้ประมูลไม่ได้นั้นจะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อดึงดูผู้ใช้