ทุ่มสุดตัวชิงคลื่น900 ชี้ชะตา4ยักษ์-ใครแพ้ตกบัลลังก์มือถือ

Published on 2015-12-14   By ประชาชาติธุรกิจ

          ศึกชิงคลื่น 900 MHz ส่งท้ายปี เดิมพันอนาคตยักษ์มือถือ "เอไอเอส" เต็งจ๋า จับตา "ดีแทค" ฮึดสู้แก้มือหลังพ่ายประมูลรอบที่แล้ว "แจส" ตัวแปรเพิ่มดีกรีแข่งดุ ฟาก กสทช.มั่นใจเคาะราคามันหยดไม่แพ้ 1800 ยิ้มร่ารอรับเงินเข้ารัฐทะลุแสนล้าน

          การประมูลคลื่น 900 MHz โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ที่ 15 ธ.ค. 2558 นี้ เสมือนการเดิมพัน ครั้งสำคัญที่น่าจะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตของยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 รายในธุรกิจนี้ เนื่องจาก "ความถี่" คือ "ทรัพยากร" สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ หลังจากการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างสถิติใหม่ ๆ มากมาย ทั้งจากการประมูลต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน และวงเงินที่สูงลิ่ว โดยที่เอไอเอสและทรู เป็นผู้คว้าชัยชนะไปในที่สุด

          สำหรับครั้งนี้ผู้เข้าประมูลยังเป็น 4 รายเดิม ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส 2.บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือดีแทค

          3.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด ในเครือทรู และ 4.บริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ในเครือจัสมิน เพื่อชิงชัยคลื่น 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม ความกว้างของแถบคลื่นแต่ละใบอนุญาตซึ่งอยู่ที่ 10 MHz น้อยกว่าคลื่น 1800 ที่มี 15 MHz/ใบอนุญาต ทำให้ราคาเริ่มต้นประมูลถูกกำหนดไว้ที่ 12,864 ล้านบาท ต่ำกว่าคลื่น 1800 ซึ่งเริ่มต้นที่ 15,912 ล้านบาท

          โดยที่ผู้ชนะจะต้องขยายโครงข่ายครอบคลุม 50% ใน 4 ปี และ 80% ใน 8 ปี ส่วนคลื่น 1800 กำหนดไว้ 40% ใน 4 ปี และ 50% ใน 8 ปี

          ปั๊มเงินเข้ารัฐทะลุแสนล้าน

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. มั่นใจว่าการประมูล 900 ที่เกิดขึ้นจะยัง ดุเดือด โดยแต่ละใบอนุญาตไม่น่ามีราคา ต่ำกว่าไลเซนส์ 1800 หรืออย่างน้อย ๆ น่าจะมากกว่า 30,000 ล้านบาท/ใบอนุญาต ขณะที่การประมูลคลื่น 1800 ที่ผ่านมา ใช้เวลา 33 ชั่วโมง เคาะราคาทั้งหมด 86 รอบ โดยที่ "เอดับบลิวเอ็น" ในเครือ เอไอเอสเสนอราคาสูงสุดที่ 40,986 ล้านบาท และทรูมูฟ เอชที่ 39,792 ล้านบาท รวม 2 ใบอนุญาต 80,778 ล้านบาท

          ถ้านำไปรวมกับอีก 2 ใบอนุญาตจากคลื่น 900 ซึ่ง กสทช.คาดว่าจะไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ใบอนุญาต หมายความว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่รวม 4 ใบอนุญาต ในครั้งนี้ กสทช.จะทำรายได้เข้ารัฐเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน

          "แจสฯ" ตัวแปร แข่งดุ

          แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประมูลคลื่น 900 ในครั้งนี้จะดุเดือดกว่าครั้งที่แล้ว โดยมีบริษัทในเครือจัสมินเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะต้องการเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และจากการสู้ราคาครั้งที่แล้วโดยเสนอราคาสุดท้ายที่ 38,996 ล้านบาท เท่ากับแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการเงินและความตั้งใจในการชิงคลื่นความถี่ ขณะที่อีก 1 ใบอนุญาต น่าจะเป็นของ เอไอเอสซึ่งมีเงินทุนมากที่สุด และยังมีข้อจำกัดเรื่องความถี่

          "เป็นที่คาดกันว่าอีก 1 ไลเซนส์ จะเป็น การแข่งกันของ 3 ราย คือ แจสฯ ทรู และ ดีแทค หากให้วิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์เชื่อว่าคนที่มีความต้องการน้อยกว่า จะพยายามเคาะราคาเพื่อปั่นให้ราคา สูงขึ้นมากที่สุด อีกปัจจัยที่ไม่ควรมอง ข้ามคือความพ่ายแพ้ของดีแทคในครั้ง ที่แล้ว กระทบต่อภาพลักษณ์บริษัทมาก จึงน่าจับตาว่าครั้งนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร"

          "ไอดีซี" วิเคราะห์ค่ายมือถือ

          นายวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายการวิจัยโทรคมนาคม และการสื่อสาร ไอดีซี ประเทศไทย บริษัทวิจัยชั้นนำ กล่าวว่า การแข่งขันน่าจะใกล้เคียง หรืออาจจะมากกว่าคลื่น 1800 เพราะการประมูลครั้งต่อไปไม่ว่าจะเป็นคลื่น 1800 ในสัมปทานดีแทค, 2300 และ 2600 ต้องรอไปอย่างน้อย 3 ปี ประกอบกับผู้ให้บริการรายเดิมต้องการคลื่นจำนวนมากเพื่อ รองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายใหม่ อย่าง "แจส โมบายบรอดแบนด์" ในกลุ่ม จัสมิน ต้องการนำคลื่นมาเสริมธุรกิจบรอดแบนด์ ทำให้การแข่งขันน่าจะดุเดือด แต่ราคาคงไม่เกินคลื่น 1800 เพราะแต่ละใบอนุญาตมีความกว้างของคลื่นเพียง 10 MHz

          "แม้ 900 จะเป็นคลื่น Lower Band ที่โดดเด่นเรื่องการส่งสัญญาณได้ไกล และครอบคลุม ทำให้ทุกรายที่เข้าประมูลน่าจะสู้เพื่อได้คลื่นนี้ เพราะลดต้นทุนในการวางโครงข่ายได้มาก แต่ด้วยจำนวนแถบน้อยกว่า 1800 รวมถึงเครื่องลูกค่ายที่รองรับ 4G บนคลื่น 900 ยังมีไม่มาก ราคาจึงไม่น่าสูงไปกว่า 1800 คาดว่าผู้ชนะจะนำคลื่นไปให้บริการ LTE Advance เพื่อเพิ่มความเร็วบริการดาต้า"

          มองว่าบริษัทที่จำเป็นต้องได้คลื่น 900 มากที่สุด คือ เอดับบลิวเอ็น ในเครือ "เอไอเอส" เพราะมีคลื่น 2100 เพียง 15 MHz และอีก 15 MHz บนความถี่ 1800 ถือว่าไม่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าในระบบที่มีกว่า 40 ล้านเลขหมาย สำหรับดีทีเอ็น ในเครือดีแทค และทรูมูฟในเครือทรู ต่างก็ต้องการได้คลื่นนี้ โดยดีแทคเสียเครดิตไปมากจากการแพ้ประมูล 1800 ซึ่งเท่าที่ทราบได้เซ็นสัญญากับผู้ผลิตอุปกรณ์บางรายที่มีอุปกรณ์รองรับคลื่น 900 MHz ไปแล้ว จึงน่าจะสู้เต็มที่ ฟากกลุ่มทรูซึ่งมีความไม่แน่นอนในคลื่น 850 MHz ที่มีสัญญาธุรกิจอยู่กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทำให้มีความต้องการคลื่น Lower Band มาครอบครองเพิ่มเพื่อต่อยอดสู่การเป็นผู้นำในตลาดต่อไป

          สำหรับกลุ่มจัสมิน ผู้บริหารไอดีซี มองว่า จุดประสงค์หลักในการประมูล 4G ทำเพื่อเสริมธุรกิจบรอดแบนด์ และเป็นการเปลี่ยนโฉมธุรกิจมาสู่โมบาย/ไวร์เลส บรอดแบนด์เต็มตัว ด้วยการนำคลื่นความถี่ 900 มาใช้เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณบรอดแบนด์ความเร็วสูงไร้สายไปยังที่พักอาศัย โดยไม่ต้องลงทุนเดินสายไฟเบอร์ออปติกใหม่ ส่วนบริการ 4G บนโทรศัพท์มือถือจะต้องรอแผนการติดตั้งโครงข่ายก่อน ซึ่งไม่สามารถสรุปได้ว่าจะใช้วิธีใด

          ขณะที่นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสาร และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การ ประมูลคลื่น 1800 ครั้งที่ผ่านมาทำให้ทุกราย เห็นหน้าตักของกลุ่มจัสมินว่าพร้อมทุ่มทุน สู้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าโอเปอเรเตอร์รายเดิมที่เข้าชิงคลื่น 900 ที่เกิดขึ้นจะเดินเกมเคาะราคากันอย่างดุเดือดไม่แพ้ครั้งก่อนแน่นอน เพราะคลื่น 900 MHz เป็นคลื่น Lower Band คลื่นสุดท้ายที่จะมีการนำมาจัดสรร เพราะคลื่น 700 MHz อยู่ในธุรกิจทีวีดิจิทัล ขณะที่คลื่น 850 MHz อยู่ภายใต้สัญญาธุรกิจระหว่างกลุ่มทรูกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม

          หากกลุ่มจัสมินชนะการประมูลคลื่น 900 คาดว่าจะนำคลื่นไปให้บริการ 4G เป็นหลัก เพราะการขยายโครงข่ายประหยัดต้นทุนกว่าคลื่น 1800 ถึงครึ่งหนึ่ง และเร็วกว่า แต่รูปแบบการขยายโครงข่ายมี 2 ทางเลือก คือ สร้างเอง หรือร่วมพาร์ตเนอร์ ที่มีเสาสัญญาณเดิม เพื่อให้ขยายโครงข่าย ได้เร็วขึ้น และเชื่อว่าจัสมินจะมองไป ถึงการเข้าประมูลคลื่น 1800 ของดีแทค ที่กำลังจะหมดสัมปทานในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

          นักวิเคราะห์ห่วง "ดีแทค"

          รายงานข่าวแจ้งว่า ในบทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี มีความกังวลว่าดีแทคอาจประมูลใบอนุญาต 900 ไม่สำเร็จ เนื่องจากเสนอราคาคลื่น 1800 ต่ำ ขณะที่กระบวนการตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับเสาสัญญาณร่วมกับแคทยังไม่ชัดเจน เพราะอาจต้องแก้สัมปทาน ซึ่งต้องอาศัยเวลา

          ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า แม้การเจรจากับแคทเพื่อนำคลื่น 1800 ที่ไม่ได้ใช้ 20 MHz มาให้บริการ 4G จะช่วยลดความเสี่ยงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด แต่มาพร้อมต้นทุนสูงขึ้น และปัญหาการเข้าถึงสินทรัพย์สัมปทานในอนาคต

          "โดยระบบสัมปทานดีแทคมีต้นทุนอยู่ที่ 30% ขณะที่ระบบใบอนุญาตมีต้นทุนที่ 5.25% ของรายได้ จึงมองว่าดีแทคต้องชนะการประมูล 900 หากอยากรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ เพราะปัญหาของดีแทคไม่ใช่ขาดคลื่น แต่ขาดแคลนคลื่นบนระบบใบอนุญาตซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า หากดีแทคไม่สู้จะเป็นแนวคิดที่อันตราย เพราะมีข้อจำกัดสูงมากในการลงทุนในอนาคต ภายใต้สัมปทานที่เหลือ 3 ปี"

          "ดีแทค" ยังเป็นรายเดียวที่ไม่มีคลื่นย่าน Lower Band ทำให้เสียเปรียบด้านการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นแรงกดดันให้ดีแทคต้องประมูลคลื่น 1800 MHz ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2561) และหากคู่แข่งสำคัญอย่างทรูได้คลื่นไป จะทำให้มีบริการที่เหนือกว่า และก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ได้เร็วขึ้น

          "ทรู" เสี่ยง ต้องเพิ่มทุน

          ด้าน บล.เคทีบี ประเทศไทย วิเคราะห์การเข้าประมูลคลื่นของบริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัดว่า มีแผนร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลี โดยการประมูลคลื่น 1800 เสนอราคาสุดท้ายที่ 38,966 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจ มือถือ แต่ถ้ายังยื่นในราคาระดับเดิมอาจ มีผลต่อต้นทุนการให้บริการ ทำให้แข่งขันกับเจ้าอื่นลำบาก และจนถึงขณะนี้ยัง ไม่มีการเปิดเผยจากบริษัทเป็นทางการ เกี่ยวกับรายละเอียดพันธมิตร และรูปแบบธุรกิจ

          ส่วนบทวิเคราะห์ของ บล.หลักทรัพย์บัวหลวง ระบุว่า หลังการประมูลคลื่นใหม่เสร็จสิ้นลง เชื่อว่าเอไอเอสจะทวงส่วนแบ่งตลาดด้านบริการข้อมูลคืนจาก "ทรู" ในทันทีที่คุณภาพสัญญาณดีขึ้น ขณะที่ในส่วนของทรู มีคำถามคือ ต้องเพิ่มทุนหรือไม่หากประมูลได้ใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เนื่องจากเชื่อว่าค่าไลเซนส์ที่ประมูลมาได้สูงเกินไป

          "การที่ กสทช.กำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงไว้ ทำให้กำไรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มหดตัว และเชื่อว่าหากทรูชนะประมูล 900 จะทำให้กำไรสุทธิช่วงปี 2559-2560 กลับมาขาดทุนอีก เนื่องจากต้นทุนค่าเสื่อมราคาของค่าใบอนุญาต และงบฯลงทุนโครงข่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น มากกว่า 3 เท่า และ 2 เท่าตามลำดับ อาจส่งผลให้บริษัทต้องเพิ่มทุน เพื่อปรับโครงสร้างของทุนให้สมดุลมากขึ้น"

          "ทีโอที" เร่ง MOU "เอไอเอส"

          นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการ บมจ. ทีโอที เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ บอร์ดทีโอทีมีวาระจะพิจารณาข้อตกลงการเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) หลังจากเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว โดยให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเจรจารายละเอียด และผลตอบแทนเพิ่มตามที่บริษัทที่ปรึกษา ดีลอยท์วางกรอบไว้

          ซึ่งได้เจรจาผลตอบแทนขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เป็นราว 3,500 ล้านบาท/ปี และจะนำมา เสนอให้พิจารณาในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยจะพยายามให้มีการลงนามในสัญญา ได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อแจ้งให้ สตง.ไม่บันทึกทรัพย์สินตามโครงการ 3G ของทีโอที เป็นทรัพย์สินด้อยค่า ซึ่งจะกระทบกับงบการเงินบริษัท

          สำหรับการตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับเอไอเอส แหล่งข่าวจาก บมจ.ทีโอที กล่าวว่า เอไอเอสสร้างสถานีฐาน 3G บนคลื่น 2100 อีก 10,000 กว่าแห่ง เมื่อรวมกับของเดิมที่ทีโอทีมีอยู่ 5,320 แห่ง จะทำให้มีสถานีฐานกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ทีโอทีเช่าอุปกรณ์นำมาใช้งาน บนคลื่น 2100 จากนั้นเอไอเอสจะมา ซื้อความจุโครงข่าย 80% ทำให้ทีโอที มีรายได้ขั้นต่ำ 3,500 ล้านบาท/ปี

          "แคท" เร่งปิดดีล "ทรู-ดีแทค"

          พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า ขณะนี้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่อยู่กับแคท แยกเป็น 2 ส่วน คือ ภายใต้สัมปทานกับ ดีแทค จำนวน 10 MHz และอีก 15 MHz ที่แคทใช้งานเอง โดยนำไปให้บริการ MVNO โดยมีกลุ่มทรูเป็นลูกค้าหลักราว 80% โดยส่วนตัวมองว่าทั้งดีแทคและกลุ่มทรูคง ไม่สนใจนำคลื่น 850 MHz ที่อยู่กับ แคทมาทดแทนคลื่น 900 ที่ กสทช.จะเปิดประมูล

          เนื่องจากดีแทคนำคลื่น 850 MHz ไปใช้ให้บริการเสียง และลงทุนบนเทคโนโลยี 3G บางส่วน โดยมุ่งลงทุน 4G บนคลื่น 1800 เป็นหลัก ทั้งในส่วนที่ดีแทคใช้อยู่เดิม 25 MHz และส่วน Upper Band อีก 20 MHz ที่ กสทช.เพิ่งอนุมัติให้อัพเกรดได้ ซึ่งแคทกำลังเร่งเจรจารูปแบบการลงทุนกับดีแทค

          ส่วนกรณีที่กลุ่มทรูจะขออัพเกรด 4G บนคลื่น 850 MHz ยังไม่ได้พิจารณา เพราะต้องเร่งเจรจายุติข้อพิพาทระหว่างกันก่อน เกี่ยวกับการชำระเงินตาม สัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบ ใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้น เดือน ธ.ค.

          "ประเด็นที่ สตง.ระบุว่าสัญญาระหว่างแคทกับทรู เราเสียเปรียบ กำลังทำข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นอยู่ ที่ผ่านมามีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติในทุกประเด็นที่ สตง.ติงมา ซึ่งมีความคืบหน้าและมีการจ่ายเงินมาแล้ว แต่จะชัดเจนทั้งหมดภายใน สิ้นปีนี้ โดยก่อนวันที่ 25 ธ.ค.จะมีการประชุมร่วมกันอีกรอบ"