15ธ.ค.ศึกชิงคลื่น900MHzจับตา "แจสโมบาย" อีกรอบ

Published on 2015-12-09   By ฐานเศรษฐกิจ

 เหลือเวลาไม่ถึง 7 วัน การประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จีในย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่สร้างปรากฏการณ์ปิดจ็อบลงแบบเลือดสาด แข่งขันราคาข้ามวันข้ามคืนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เสนอสูงสุดเพิ่มจากราคาตั้งต้นถึง 157.5%
          4 กลุ่มเดิมเข้าชิง
          ครั้งนั้นมีผู้เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 4 ราย โดยผู้ชนะใบอนุญาตที่ 1 คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จากกลุ่มทรู ที่เคาะราคาอยู่ที่ 3.98 หมื่นล้านบาท ในการประมูลรอบที่ 86 จากราคาตั้งต้นที่ 1.59 หมื่นล้านบาท โดยราคากลางที่ผู้จัดการประมูลตั้งไว้อยู่ที่ 1.99 หมื่นล้านบาท ส่วนผู้ชนะใบอนุญาตที่ 2 ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด จากกลุ่มเอไอเอส ที่เสนอราคาประมูลที่ 4.09 หมื่นล้านบาท จากการเคาะประมูลในรอบที่ 86 รวมราคาการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบอนุญาต ได้ 8.07 หมื่นล้านบาท (หมายเหตุ : อ่านรายงานหน้า 24 ประกอบ ค่ายมือถือ ท้าดวล! เกมการตลาด ชิงขุมทรัพย์ใหม่ 4G)
          การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะจัดในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ผู้ผ่านด่านคุณสมบัติได้สิทธิ์เข้าแข่งขันราคา ยังคงเป็นกลุ่มทุนสื่อสาร 4 รายเดิม ที่เคยเปิดศึกคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ในรอบที่แล้ว อันได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในกลุ่มทรู, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กลุ่มเอไอเอส, บริษัท จัสมิน โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด จากกลุ่มจัสมิน และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค
          ท่ามกลางการเฝ้าจับตาว่า การเคาะราคาเพื่อชิงใบอนุญาตใช้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งนี้จะสร้างปรากฏการณ์เช่นการประมูลคราว 1800 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่!!
          ลุ้นคลื่น 900 แตะ 5 หมื่นล.
          สำหรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. นำมาเปิดประมูลครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาตเช่นกัน วงการสื่อสารโทรคมนาคมประเมินว่า กระแสไม่น่าจะรุนแรงเท่าครั้งแรก โดยแหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้จะแรงเหมือนครั้ง 1800 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายหมดแรงไปแล้ว แต่สำหรับเอไอเอส แม้จะชนะได้ใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์แล้ว 1 ใบอนุญาต แต่ยืนยันที่จะสู้ราคาเพื่อชิงคลื่น 900 ในครั้งนี้ต่อ
          ขณะที่รายที่ 2 คือ ดีแทค ดูท่าทางแล้วไม่น่าจะสู้ราคา เพราะคราวประมูล 1800 เมกะเฮิรตซ์ ดีแทคถอยเป็นรายแรก เนื่องจากสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 ของดีแทคจะหมดอายุในปี 2561 ซึ่งดีแทคเชื่อว่าระยะเวลาที่เหลืออีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเงื่อนไขต่างๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เก็บเงินที่มีอยู่ขยายเครือข่ายและตุนไว้ไปประมูลในคราวหน้าดีกว่า
          ส่วนกลุ่มทรู ตอนนี้ต้องถามว่า "ทรู" หมดหน้าตักแล้วหรือยัง เพราะ "ทรู" ทุ่มประมูลแข่งจนได้ใบอนุญาต 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไปบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว แม้ "ศุภชัย เจียรวนนท์"กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า "สู้อยู่แล้ว"แต่ทว่าคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ใบอนุญาตมีระยะเวลาเพียง 15 ปี ต่างจากคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีระยะเวลา 18 ปี จำนวนคลื่น อยู่ที่ 15 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนคลื่นมีเพียง 10 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น
          "เมื่อบวกลบคูณหารแล้วการประมูลคลื่น 900 ครั้งนี้ จะออกได้ 3 รูปแบบ คือ ถ้าประมูลจบแบบน่าเกลียด ได้ราคารวม 2 ใบอนุญาต อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท แบบที่ 2 กลางๆ ราคาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท หรือ 3. สู้แบบเลือดสาด จะได้ราคาอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท" แหล่งข่าว กสทช.แสดงความคิดเห็น
          ก่อนหน้านี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะเปิดประมูลในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 นี้ เตรียมการประมูลไว้ 3 วัน (15-17 ธ.ค.) เริ่มในเวลา 10.00-20.00 น และคาดว่าจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่งวดแรกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และตลอดทั้งปี กสทช. นำเงินส่งเข้ารัฐถึง 1 แสนล้านบาท
          จับตา "จัสมิน" อีกรอบ
          เช่นกันการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้ ไม่พูดถึงกลุ่มจัสมินไม่ได้แล้ว เพราะ "แจสโมบาย" กลายเป็นตัวแปรที่ถูกจับตามากที่สุดอีกครั้ง
          โดยในคราวประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งก่อน แจสโมบายเป็นตัวสร้างการแข่งขัน ทำให้การประมูลครั้งนั้นสร้างปรากฏการณ์ใหม่การประมูลคลื่นความถี่เมืองไทย เพราะหลังจากที่ดีแทคหยุดเคาะสู้ต่อตั้งแต่รอบต้นๆ เมื่อเสนอเลยราคากลางไปเพียงเล็กน้อย หากไม่มี "แจสโมบาย" เสนอตัวเข้าแข่งขันรายใหม่ จะเหลือเพียงค่ายเอไอเอสและทรู ที่เป็นเจ้าตลาดเดิม การเสนอราคาประมูลคลื่นที่มี 2 ใบอนุญาตคงจบไปไม่นาน และเหนือราคากลางไม่มาก
          แต่เพราะ "แจสโมบาย" ลงสนามเข้ามาแข่งขัน และเคาะสู้ยืดเยื้อถึงราคาสุดท้ายที่ 3.89 หมื่นล้านบาท จึงสร้างปรากฏการณ์ "ประมูลข้ามคืน" ดังกล่าว และดันราคาการประมูลขึ้นจนไปจบที่ราคาสูงกว่าตั้งต้นถึง 1 เท่าครึ่ง
          การสู้ยิบตาของแจส โมบาย โดย "พิชญ์ โพธรามิก" ผู้ถือหุ้นใหญ่ บุตรชายดร.อดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ เป็นไปตามแผนธุรกิจ ที่เจ้าตัวเคยเปิดเผยไว้ก่อนหน้า ว่าต้องการได้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อมาต่อยอดธุรกิจเดิม คือ บริการอินเตอร์เน็ต ภายใต้ชื่อแบรนด์ "3BB" ที่ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ 1.95 ล้านราย และยังมี JASIF เส้นใยแก้วนำแสงจำนวน 9.8 แสนคอร์กิโลเมตร
          ดังนั้น "พิชญ์" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสตอรีธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อต่อยอดธุรกิจในเครือตามทฤษฎี "กลับหัว" เนื่องจากกลุ่มจัสมิน เติบโตมาจากโครงข่ายใยแก้วนำแสง, อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการคอนเทนต์ผ่านช่องสถานีโทรทัศน์โมโน 29 รวมไปถึงเว็บไซต์เอ็มไทยดอทคอมด้วย โดยหากได้คลื่นความถี่มาเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็จะมีโครงข่ายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่ครบวงจรอีกค่ายของเมืองไทย
          ผ่าเงื่อนไขชิงคลื่น 900
          สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนใบอนุญาต 2 ใบ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ มีอายุใบอนุญาต 15 ปี ขณะที่ราคาเริ่มต้นการประมูลแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย ราคาประมูลขั้นต่ำเริ่มที่ 12,864 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของมูลค่าคลื่นในการประมูลรอบแรกที่ 13,508 ล้านบาท (กฎการประมูลบังคับผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายต้องเคาะราคา) เว้นระยะเวลาการเคาะครั้งละ 15 นาที และประมูลเพิ่มขึ้นครั้งละ 644 ล้านบาท หรือ 5% ของมูลค่าคลื่น (ดูตารางประกอบ)
          แต่หากมีการแข่งขันเต็มที่ โดย "แจสโมบาย" ยังคงนโยบายมุ่งต่อยอดสู่ธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องการแจ้งเกิดเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดเช่นเดิม และผู้เล่นรายเดิมยังมี "เงินในหน้าตัก" พร้อมลงชิงใบอนุญาตใหม่ที่เหลือ การประมูลคราวนี้ก็น่าจะเห็นการแข่งขันราคาให้ตื่นเต้น แม้จะไม่ดุเดือดเท่าครั้งก่อนที่มีบางราย "แพ้ไม่ได้" เพราะ "แจสโมบาย" ลงป่วนตลาดรอบก่อนดันต้นทุนค่าใบอนุญาตคลื่น 1800 ไว้สูงลิบ ประมูลคราวนี้ค่ายคู่แข่งต้องลงประกบ ดันให้ต้นทุนใบอนุญาตคลื่น 900 ไม่ทิ้งห่างจากครั้งก่อนมากเกินไป อย่างน้อยได้ตัดกำลังคู่แข่งในตลาดผู้ให้บริการมือถือ ที่ยังต้องสู้ดุเดือดกันอีกไปอีกยาว
          15 ธันวาคมนี้ รอลุ้นกันว่า กลุ่มทุนใดจะคว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ "แจสโมบาย" จะแจ้งเกิดเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดมือถือไทยได้หรือไม่ น่าสนใจยิ่ง!