แจสผู้ใจเด็ด

Published on 2015-11-25   By โพสต์ทูเดย์

 การประมูล 4จี คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับโทรศัพท์มือถือ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่เสร็จสิ้นไป มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (ทรู) 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เอไอเอส) 3.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต (ดีแทค) 4.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ (แจส) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล แต่มีใบอนุญาตเพียง 2 ใบ จึงมีผู้ชนะการประมูลเพียง 2 ราย คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ประมูลได้ใบอนุญาตใบแรก ราคา 39,792 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ประมูลได้ใบอนุญาตใบที่สอง ราคา 40,982 ล้านบาท
          ผลการประมูลในครั้งนี้หลายๆ คนรู้สึกยินดีและประหลาดใจระคนกัน ที่พบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่สัญชาติไทยเข้าร่วมประมูลด้วย ทั้งยังเป็นผู้ที่กล้าสู้ราคาทำให้ดันราคาประมูลขึ้นมาสูงจนเป็นประวัติการณ์ ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะมีผู้ประกอบการไทยอีกรายหนึ่งเข้าร่วมแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติ
          ผู้ประกอบการไทยรายนี้คือ แจส ที่ใจเด็ดกล้าสู้ราคาประมูล 4จี คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไปจนถึงเกือบ 3.9 หมื่นล้านบาท และเกือบได้ใบอนุญาต
          ทั้งๆ ที่ตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือน พ.ย. 2558 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของกลุ่มบริษัท จัสมิน เองอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งพิจารณาสินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัท จัสมิน จะอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท มีหนี้สินรวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
          แจสหรือกลุ่มบริษัท จัสมิน ถือว่าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ไม่มีโครงข่ายมือถือของตัวเองอยู่เลย หากจะต้องใช้เงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ แล้วยังจะต้องมีเงินทุนเพื่อใช้ในการสร้างโครงข่ายอีก สมมติว่าหากจะต้องลงทุนสร้างโครงข่ายอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าการตลาด ก็จะต้องใช้เงินสูง เป็นหลายเท่าตัวของมูลค่าหลักทรัพย์ที่มีอยู่
          ยิ่งถ้าพิจารณาด้วยว่า แจสไม่มีฐานผู้ใช้มือถือเดิมอยู่เลย และยังจะต้องเข้ามาแข่งขันกับผู้ให้บริการเดิมที่มีทั้งเงินทุนหนา และฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว ถือได้ว่า งานนี้เป็นการต่อสู้ ที่มีเดิมพันกันสุดตัว จึงต้องขอชื่นชมถึงความเป็นนักสู้ของทั้งแจสหรือกลุ่มบริษัท จัสมิน และแหล่งเงินทุนที่ให้การสนับสนุน
          หากประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่งจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 3 ราย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นไปตามระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพราะเมื่อมีการแข่งขันสูงขึ้น ก็ยิ่งจะได้รับบริการที่ดีขึ้น ในขณะที่ค่าบริการจะถูกลง
          หากเปรียบเทียบกับกิจการโทรศัพท์มือถือเมื่อ 30 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งราคาเกือบ 1 แสนบาท ค่าบริการต่อนาทีถือว่าแพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในสมัยนั้น และผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในขณะนั้นจะมีแต่นักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการแข่งขันกันมากขึ้น โทรศัพท์ มือถือเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ เพราะราคาถูกลงทั้งราคาเครื่องและค่าบริการ จนกลายเป็นปัจจัยที่ห้าในชีวิตประจำวัน
          ขอชื่นชมผู้บริหารของแจสผู้ใจเด็ด แม้ว่าการประมูล 4จี รอบแรกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การประมูล 4จี รอบที่สอง สำหรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ใครจะคาดคิดว่า แจสผู้ใจเด็ดอาจจะเป็นแจ็กผู้ฆ่ายักษ์ ก็เป็นได้