ถอดรหัสแผนธุรกิจ4ค่ายพร้อมชิง900

Published on 2015-11-16   By กรุงเทพธุรกิจ

การประมูลใบอนุญาต 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ต่อเนื่อง วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 33 ชั่วโมง ที่ผู้ประกอบการ4 ราย ทั้ง เอดับบลิวเอ็น, ทรูมูฟ เอช, ดีแทค ไตรเน็ต และแจส โมบาย ขับเคี่ยวกันทั้งคืน การเคาะราคาขึ้นไปถึง 86 รอบ ก่อนจะสิ้นสุดเมื่อเวลา 19.05 นาที ของวันที่ 12 พ.ย. ผลปรากฏเจ้าของคลื่นความถี่ 2 ราย ที่เคยทำสัญญาสัมปทานกับ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้คว้าชัย คือ "ทรูมูฟ เอช" และ "เอดับบลิวเอ็น" รวมราคาใบอนุญาต 80,778 ล้านบาท
          อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ให้รายละเอียดการลงทุนวางแผน และแนวทางการให้บริการไม่ได้ เพราะติดช่วงไซเรนซ์ พีเรียด ไปจนถึงการประมูลใบอนุญาตความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์วันที่ 15 ธ.ค. นี้ จำนวน2ใบๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาขั้นต่ำ 12,864 ล้านบาท
          หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 8 ปี เป็น การประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้กระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น
          เอไอเอสเทหมดหน้าตัก
          การเคาะราคาในย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ระหว่างช่วงความถี่ 1725-1740/1820-1835 เมกะเฮิรตซ์ เป็นช่วงความถี่ที่ 2 แสดงให้เห็นว่าเอไอเอส ที่ส่งบริษัท แอดวานซ์ ไวรเลส์ เน็ทเวอร์ค จำกัด เข้าเคาะราคา  ตั้งแต่รอบแรก ถึงรอบที่ 86 เคาะราคาในใบที่2 อยู่ตลอดเพื่อหนีคู่แข่ง  ต้องการได้คลื่นย่านนี้อย่างแท้จริง  ตรงกับสิ่งที่ผู้บริหารเอไอเอส ประกาศมาตลอดว่าต้องได้คลื่นความถี่เท่านั้น
          นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยืนยันก่อนประมูลครั้งนี้ว่า ต้องการได้ใบอนุญาตมากที่สุด อย่างน้อยต้องได้ช่วงความถี่ละ 1 ใบอนุญาต คือทั้งย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์
          นอกจากนี้  ยังมองว่า การประมูลครั้งนี้จะแข่งขันมากขึ้นกว่าการประมูล 3 จี ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์  เชื่อว่า การแข่งขันจะดุเดือด เอไอเอส มีความพร้อมเกิน 100% และมีแผนขยายโครงข่ายทันทีที่ได้รับใบอนุญาต มั่นใจว่า ต้นปี 2559 จะเปิดให้บริการได้
          ปัจจุบัน ฐานลูกค้าเอไอเอสมีผู้ใช้ดาต้ามากกว่า 30% จากลูกค้ารวม 44.3 ล้านราย อัตราการเติบโตของผู้ใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นราว 15% มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนแผนงานการให้บริการจะเริ่มแผนการทำตลาดทันที ควบคู่ไปกับการขยายโครงข่าย เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดโทรคมนาคมต่อไป
          ทรูไล่จี้ขอแซงขึ้นเบอร์2
          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวภายหลังออกจากห้องประมูล 4จี เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา บอกว่ารู้สึกดีใจที่ผู้เข้าประมูล
          มีสปิริตสูงทุกราย การแข่งขันครั้งนี้ถือว่าเป็นการแข่งขันกันหนักพอสมควร แต่ก็พอใจกับผลที่ได้โดยราคาที่ประมูลได้ เป็นราคาได้แม้จะเป็นราคาที่สูงแต่อยู่ในช่วงที่บริษัทคาดการณ์ไว้ ราคาประมูลที่ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ได้เป็นใบอนุญาตที่ 1 ราคา 39,792 ล้านบาท ในย่านความถี่ช่วงที่ 1 1710-1725/1805-1820 เมกะเฮิรตซ์
          โดยกลุ่มทรูได้ระดมทั้งเงินทุน และการเตรียมการต่างๆ เพื่อเข้าร่วมประมูล 4 จีทั้งคลื่นความถี่ 1800 และคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ หลังการประมูลเสร็จสิ้น เมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายให้บริการ 4จีปี 2559 จะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด 4จี  บริษัทได้ออกกลยุทธ์รองรับการแข่งขันไว้แล้ว โดยจะเน้น รูปแบบผู้ให้บริการคอนเวอร์เจนซ์ และสมาร์ทไลฟ์ และกลุ่มทรูต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำการให้บริการ 4จีที่ 1 ในไทย
          ปัจจุบันยอดลูกค้า 4จีของกล่มทรูมีมากกว่า 1.7 ล้านราย และภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น2 ล้านราย
          จัสมินเอาจริงไม่ควรมองข้าม
          ตลอดการเคาะราคา 86 รอบที่ผ่านมา แจส โมบาย บรอดแบนด์ บริษัทในเครือของจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล สู้ราคากับเจ้าเก่าทุกๆ รอบ โดยเคาะไล่ราคา และสลับไปมาระหว่างใบอนุญาตช่วงที่ 1 และ 2 ตลอด แต่สุดท้ายการเสนอราคาของแจส โมบาย ก็สิ้นสุดลงที่ 38,996 ล้านบาท ในช่วงความถี่ 1 ทำให้รู้ว่าน้องใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในตลาดโทรศัพท์มือถือ ต้องการเข้ามาแย่งเค้กจาก 3 รายอย่างจริงจัง
          นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสมิน กล่าวตลอดว่า บริษัทตั้งใจเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4จีอย่างแน่นอน ทั้งย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยประเมินเงินลงทุนไว้ต้องใช้ราว 25,000-35,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่างประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตร รูปแบบการลงทุนจะเป็น"จอยซ์ เวนเจอร์" ให้สิทธิ์เข้ามาถือหุ้นราว 25-40%
          บริษัทมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะการประมูลอย่างน้อย 1 ใบอนุญาต จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4จี จำนวน 4 ใบอนุญาต แม้ว่า ผู้ประกอบการ 3 รายเดิมจะต้องการความถี่เพิ่มขึ้นและเกิดการแข่งขันด้านราคาสูง แต่เขาเชื่อว่า กสทช.จะมีเงื่อนไขการประมูลที่จำกัดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด
          "กลยุทธ์ของบริษัทที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นรายที่ 4  จะอาศัยศักยภาพเดิมของกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีแบบฟิกซ์บรอดแบนด์ ที่ให้บริการภายใต้ 3บีบี ซึ่งลูกค้ามีความชื่นชอบในความเร็ว กลุ่มเป้าหมายของจัสมินเองนั้น จะเน้นที่ลูกค้าระบบบน ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก ต้องการใช้สปีดดาต้าที่มีความเร็วสูง ตั้งเป้าในปีแรกจะมีลูกค้าราว 1 ล้านราย"
          ดีแทครีบส่งสารแจ้งพร้อมบริการ4จี
          การไม่สู้ราคาในการประมูล 4จีบนคลื่น 1800 เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมาย สำหรับดีแทค ที่ตัดสินใจไม่สู้ราคาตั้งแต่รอบที่ 3 ของการเคาะ จึงน่าจะเป็นผู้เข้าร่วมประมูลที่น่าเห็นใจมากที่สุด เพราะต้องอยู่ในห้องประมูลมากกว่า 30 ชั่วโมง แม้ได้เดินออกจากเกมนี้ไปแล้ว ซึ่งราคาสุดท้ายที่ดีแทคเสนอคือ 17,704 ล้านบาทเท่านั้น
          นายลาร์ส นอร์ริ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)  ชี้แจงหลังการประมูลสิ้นสุดลง  ว่าแม้ดีแทคจะไม่ใช่ ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 แต่ขณะนี้  ดีแทคได้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 ที่มีอยู่เดิมให้บริการ 4จีแล้วภายใต้สัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคมจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์
          ดังนั้น ดีแทคจะยังคงใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการ 4จี ภายใต้สัญญาสัมปทานแก่ผู้ใช้บริการต่อไป โดยเปิดให้บริการ 4จี บนคลื่น 1800 อย่างเป็นทางการแล้ว เริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้งานหนาแน่น และคิดเป็นบริเวณพื้นที่มากกว่า 50% ของพื้นที่ที่มีการใช้งาน 4จีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่ง 4จีบน คลื่น 1800 จะรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงขึ้น