จับตา"จัสมิน"จุดเปลี่ยนตลาด นักวิเคราะห์เชื่อทุ่มชิงคลื่น900กทค.คาดแข่งเดือด

Published on 2015-11-14   By กรุงเทพธุรกิจ

"เศรษฐพงค์"มั่นใจ คุมราคาบริการ4จี  ไม่กระทบผู้บริโภคนักวิเคราะห์ประเมินประมูลคลื่น900 เมกะเฮิรตซ์แข่งรุนแรง จับตากลุ่มจัสมินฯ ทุ่มชิงคลื่น หลังแพ้ฉิวเฉียดรอบแรก ชี้หากรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจุดเปลี่ยนตลาด ขณะกทค.ระบุตลาดโทรคมนาคมเปิดกว้างสำหรับผู้เล่นรายใหม่
          การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์เป็นไปตามคาดหมายสำหรับผู้ชนะประมูล แม้ราคาประมูลทั้งสองใบอนุญาตค่อนข้างสูง แต่จากการแข่งขันสู้ราคา แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นรายใหม่ คือ กลุ่มบริษัทจัสมินฯ พร้อมทุ่มเงินในการประมูลครั้งต่อไปในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
          ผลการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ชนะประมูลราคาสูงสุด 2 ราย คือ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในราคา 40,986 ล้านบาท และทรู มูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ในราคา 39,792 ล้านบาท ขณะอันดับ 3 คือ แจสโมบาย บรอดแบนด์ เสนอราคา 38,996 ล้านบาท
          แม้แจสโมบายฯจะแพ้การประมูลในครั้งนี้ แต่เคาะราคาสู้อย่างดุเดือดข้ามวันและเป็นทีมเดียวที่ไม่ขอพักการประมูล รวมถึงมีทีมประมูลน้อยสุดเพียง 5 คน รวมถึงพฤติกรรมการเคาะราคาทั้ง 2 ใบอนุญาต ขณะดีแทคถอนตัวตั้งแต่วันแรก ทำให้บรรดานักวิเคราะห์หันมาจับตากันมากขึ้นในการประมูลครั้งหน้า
          บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซึ่งออกบทวิเคราะห์ก่อนหน้านั้นประเมินผู้ชนะได้อย่างถูกต้อง ระบุว่ากลุ่มจัสมินฯชี้ให้เห็นว่ากล้าทุ่มเงินเพื่อครอบครองคลื่น ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะยังเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์อย่างจริงจัง ทำให้โอกาสราคาจะสูงขึ้น
          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี  ประเมินว่าแม้ ผู้ชนะประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะเป็นผู้เล่นรายเดิม แต่ต้องจับตาการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดว่า กลุ่ม บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS มีแนวโน้มต้องการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ มากกว่าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และอาจทุ่มเม็ดเงินเพื่อก้าวเข้ามาทำธุรกิจ ในตลาดมือถือ เนื่องจากคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่า และสามารถลดการลงทุนด้าน โครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า
          "หากกลุ่มจัสมินฯ ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ได้ จะช่วยส่งเสริมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัท และต่อยอดบริการข้อมูลให้ครอบคลุม การใช้งานมากขึ้น"
          ศูนย์วิจัยฯ จึงคาดว่าการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่จากผู้เล่นรายเดิมอย่างดุเดือด เพื่อรักษาฐานลูกค้า และส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด
          จับตาประมูลครั้งหน้าเดือด
          ด้านนายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบล.ธนชาต กล่าวว่าแม้การประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์จบลง แต่ความเสี่ยงของหุ้นในกลุ่มนี้ไม่หมดไป ซึ่งต้องรอการประมูลในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีความดุเดือดไม่แพ้กัน
          "หากในการประมูลรอบหน้า เกิดมีผู้เล่นรายใหม่ได้ใบอนุญาต ภาพของการแข่งขันในธุรกิจจะเปลี่ยนไปทันที"
          ผลการประมูลครั้งหน้าถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ มาก หากผู้เล่นรายใหม่ได้ใบอนุญาตจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในรอบใหม่ เพราะผู้เล่น ดังกล่าวไม่มีจำนวนฐานลูกค้าอยู่ ทำให้ต้องการอัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า เหมือนในอดีตที่มี ออเรนจ์ เข้ามาทำตลาดจะกระทบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ถ้าการประมูลยังเป็น 3 ผู้เล่นรายเดิมได้ใบอนุญาต ภาพการแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากนัก
          ทั้งนี้ในการประมูล 1,800 เมกะเฮิรตซ์ที่จบลงด้วยราคาการประมูลที่สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์กว่า 1 เท่าตัว ผลที่เกิดขึ้นคือจะกระทบกับการทำกำไรของบริษัทประมาณ 15-30% ใน 10 ปีข้างหน้า โดยในรายของเอไอเอสไม่น่าห่วงในเรื่องของเงินทุน และการประมูลดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยขจัดข้อจำกัดด้านคลื่นความถี่ที่มีอยู่ปัจจุบัน แต่ในรายของทรูยอมรับว่าน่าห่วง เพราะมีหนี้อยู่ในระดับที่สูง
          ชี้รายใหม่เกิดกดรายได้เจ้าเดิม
          ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารถือว่า ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่ จนกว่าที่จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์จะจบลง เพราะนักวิเคราะห์ยังกังวลเรื่องที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา ทำให้ส่วนแบ่ง กำไรของผู้ประกอบการทั้ง 3 รายลดลง
          ทั้งนี้ในมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่รวมกันกว่า 8 หมื่นล้านบาท มองว่า จะไม่ส่งผลด้านเงินทุน จนต้องทำให้บริษัทต้องเพิ่มทุน เพื่อที่จะนำเงินมาชำระค่าใบอนุญาต เพราะบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี รวมถึงบริษัททั้งหมด ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ยังสามารถใช้ช่องทางในตลาดหลักทรัพย์ระดมทุนได้ในหลายช่องทาง
          กทค.คาดครั้งหน้าแข่งเดือดแน่
          พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่าวิธีการประมูลถือว่ามีความสมบูรณ์ เนื่องจากแข่งขันกันอย่างดุเดือด ดูแล้วคงไม่มีการสมยอมราคากันแน่ แต่คงต้องไปดูรายละเอียดวิธีการเคาะราคาอีกครั้ง
          ส่วนการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เชื่อว่าจะแข่งขันกันหนักหน่วงแน่นอน คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นที่น่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันระหว่างคลื่น 1800 กับ900 เมกะเฮิรตซ์ จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีทุนน่าจะพยายามเก็บไว้ทั้งสองย่าน
          "เราวิเคราะห์ไว้แล้วว่าอย่างน้อยต้องมี 2 โอเปอเรเตอร์ที่อยากได้มาก ส่วนอีก 2 โอเปอเรเตอร์อาจจะอยากได้กลางๆเชื่อต้องแข่งขันกันแน่นอน จากการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์มีโอเปอเรเตอร์รายหนึ่ง ที่ทุ่มเงินมหาศาลในการประมูลแต่ไม่ได้ อาจจะกลับมาสู้ใหม่ครั้งหน้า ถ้าเขาวิเคราะห์ว่าคุ้มที่จะสู้ จึงมีโอกาสที่จะแข่งขันกันพอสมควร"
          ชี้ตลาดยังเปิดสำหรับรายใหม่
          พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่าคลื่น1800 เมกะเฮิรตซ์ มีความเร็วที่สูง แต่ความครอบคลุมน้อยกว่า การลงทุนการสร้างสถานีฐานถึงต้องลงทุนมากขณะที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ครอบคลุมได้มากกว่าจำนวนเซลล์ไซต์จะน้อยกว่า ทำให้ลงทุนน้อยกว่า ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผู้ให้บริการต้องคำนวณและกำหนดยุทธศาสตร์ให้บริการไว้แล้วว่าจะทำอย่างไรและแค่ไหนจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
          "เราไม่รู้ว่าเขามองคลื่นสองคลื่นนี้อย่างไร อยากได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าต้องมีการต่อสู้กันพอสมควร อย่าคิดว่าคนที่หยุดเคาะราคาไปก่อนคนนั้นเขาจะไม่อยากได้ บางทีเขาอาจจะอยากได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์มากที่สุดก็ได้ ไม่อยากเปิดเผยหน้าตักตัวเอง"
          อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดโทรคมนาคมของไทยในเวลานี้ยังพอมีโอกาสสำหรับผู้เล่นรายใหม่ แต่ต้องมีสายป่านยาวพอสมควร มีทุนมาก ต้องมีโมเดลธุรกิจในการให้บริการนวัตกรรมมากขึ้นยังมีโอกาสทางธุรกิจมากที่จะทำเงินได้ ตลาดยังไม่อิ่มตัว
          สำหรับการรับรองผลการประมูลคาดจะรับรองได้ภายในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ขณะนี้ได้ทำเรื่องรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อรับทราบ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับเสมอให้ดูแลราคาค่าบริการไม่ให้สูงกว่าบริการ 3จี และให้คอยดูแลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
          มั่นใจคุมราคาค่าบริการได้
          พ.อ.เศรษฐพงค์ยืนยันว่ากทค. ได้ออกเป็นกฎหมายแล้วว่าการคิดค่าบริการ 4จีต้อง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริการ 3จี ทั้งวอยซ์และดาต้า ณ วันที่ได้รับอนุญาต กสทช. จะทำ ตัวเลขออกมาเพื่อให้ผู้ให้บริการ 4จี ใช้เป็นเพดานการคิดค่าบริการ 4จีต้องไม่เกินตัวเลขนี้ ตัวเลขที่กำหนดไว้นี้จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบ หากกำหนดราคาเกินกว่านี้ และตรวจสอบพบเตือนให้ยกเลิก หากยังฝ่าฝืนต้องมีการปรับทางปกครอง และคืนเงินลูกค้า
          "เราจะเอาค่าเฉลี่ยค่าบริการ 3จี ในวันที่ให้ใบอนุญาตมาคำนวณและกำหนดเป็นตัวเลขไว้ หลังให้ใบอนุญาตแล้วจะคำนวณว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้ในระดับราคาไหน จากนั้นจะเอามากำหนดตัวเลขชัดเจน ประกาศให้ทราบ"
          พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่าการที่ประมูลคลื่นมาแพง ต้องกำหนดค่าบริการที่ไม่แพงและบริการต้องดี ผู้เข้าประมูลต้องรู้ดีว่าต้นทุนเท่าไรที่เหมาะสมรับได้ ถึงได้ประมูลคลื่นมา ยกตัวอย่าง บริษัทที่ประมูลคลื่นได้ราคา สูงที่สุดได้ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์คำนวณแล้วว่าระดับราคานี้รับได้หรือไม่ เมื่อ นักวิเคราะห์ตอบว่ารับได้ ทำธุรกิจได้จึงได้ตกลงประมูล การกำหนดราคาสูงถึงจุดไหนแสดงว่าได้รับการตกลงยินยอมมาแล้ว
          ดีแทคเสียเปรียบต้นทุนบริการพุ่ง30%
          บล.เอเซีย พลัส จำกัด วิเคราะห์ว่าดีแทค มีคลื่นความถี่ 1800 จะหมดอายุในปี 2561 แม้จะสามารถนำมาพัฒนา 4จี ได้ แต่มีต้นทุนบริการที่สูง 30% ของรายได้ค่าบริการ จึงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอีก 2 รายได้ที่มีต้นทุนใบอนุญาตที่ต่ำกว่า ดังนั้น แม้จะให้บริการ 3 จีและ 4 จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์อยู่ แต่ความสามารถในการแข่งขันจะลดลง
          "เชื่อว่าดีแทค น่าจะเป็น 1 ใน 2 ราย ที่น่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา 4จี ทำให้ความสามารถ แข่งขันระยะสั้น-กลางยังด้อยอยู่มาก"        อย่างไรก็ตาม 2 บริษัทที่ได้ใบอนุญาตใหม่นั้น แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ยังมีกระแสเงินสดรองรับ เพราะต้นทุนค่าประมูลสูงกว่าคาดมากถึง 19,000 ล้านบาท  จะเป็นภาระที่ สูงขึ้น แม้จะสามารถตัดจ่ายได้นานถึง 18 ปี แต่นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายแต่ละปีราว 2,222 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินลงทุนในโครงข่าย และอุปกรณ์ที่ 4จี ซึ่งแต่ละรายกำหนดแผนการลงทุนไม่เท่ากัน เอไอเอส กำหนดไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และทรู 1 หมื่นล้านบาท
          แม้เงินลงทุนส่วนหลังให้สามารถตัดจ่ายได้ 7 ปี แต่นั่นหมายความว่า แต่ละรายมีต้นทุนส่วนเพิ่มนอกเหนือใบอนุญาตอีกรายละ 2.5 พันล้านบาทต่อปี และ 1.43 พันล้านบาทต่อปี ตามลำดับ โดยรวมแต่ละรายจะมีต้นทุนในการให้บริการ 4จี เพิ่มขึ้นในการจัดทำงบกำไรขาดทุนต่อปี รายละ 4,722 ล้านบาท และ 3,652 พันล้านบาท ตามลำดับ
          หากพิจารณาสภาพคล่องทางการเงินทุกรายจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เอไอเอส มีสภาพคล่องที่ 93,000 ล้านบาท  และ ทรู อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท  ส่วนดีแทค อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท
          ขณะที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเอไอเอสอยู่ที่ 0.96 เท่า ทรูอยู่ที่ 0.44 เท่า ส่วน ดีแทค ที่ 0.94 เท่า จึงมีช่องว่างที่กู้ยืมได้เพิ่มเติม และปลอดภัยต่อการเพิ่มทุน แต่ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจะกดดันให้ทรู ซึ่งฐานกำไรที่ต่ำ มีโอกาสกำไรยากขึ้น
          "ฐากร"คาดทุกรายต้องการคลื่น900
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นที่ยังไม่มีใครมี (เอไอเอส หมดสัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอทีไปแล้ว) เป็นคลื่นที่ใช้การลงทุนต่ำ มูลค่าคลื่นสูงที่สุดในขณะนี้ เพราะการขยายโครงข่ายจะใช้เงินลงทุนน้อย จากครอบคลุมพื้นที่มากกว่าคลื่นความถี่สูง
          การแข่งขันประมูลครั้งหน้าจะเป็น 4 ราย เพราะทุกรายไม่ว่า จะมีคลื่นอยู่แล้ว หรือไม่มี ล้วนต้องการรับใบอนุญาตจาก กสทช. บางรายมีคลื่นให้บริการ แต่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว แต่รับใบอนุญาตจาก กสทช. ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น จ่ายเฉพาะเงินค่าประมูล และค่าธรรมเนียม
          ส่วนของแจส โมบาย ถ้าได้คลื่นไปคงต้องให้บริการมือถือ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง ซึ่งแจสอยู่ในเครือจัสมินที่มีกองทุนที่เพิ่งจัดตั้ง การวางโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่อยู่แล้ว ทั้ง 4 รายถือเป็นรายใหญ่ จากการประมูลที่ผ่านมาเห็นว่า แต่ละรายมีเงินอยู่ในหน้าตัก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีเงินเข้าแข่งขันเกินกว่านั้น ผู้อยู่ในธุรกิจนี้ต้องมีเงินเป็นแสนล้านบาท
          แจสเป็นผู้รับใบอนุญาตประเภทที่ 3 จาก กสทช. ให้บริการโครงข่ายในนามกองทุนรวม จัสมิน ทรูมูฟ ก็มีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเดิม อยู่แล้ว หรือเอไอเอสก็มีโครงข่ายเดิม นอกจากนั้นยังบังคับเช่าโครงข่ายจากทีโอทีและกสท ด้วย
          นายฐากร กล่าวว่า ครั้งต่อไป ประมูลคลื่น 900 จำนวน 2 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,864 ล้านบาท ราคาขึ้นไปถึง 3-4 หมื่นล้านบาทก็น่าพอใจ