4ค่ายมือถือลุยยื่นซองประมูลชิงคลื่น900MHz

Published on 2015-10-26   By ข่าวหุ้น

          JAS-DTAC-ADVANC-TRUE ตบเท้ายื่นซองประมูลคลื่น 900 MHz ราคาเริ่มต้นประมูล 12,864 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 644 ล้านบาท จัดประมูลรอบสาธิต 6 พ.ย.นี้ ก่อนประมูลจริง 12 พ.ย.นี้ คาดหนุนเงินเข้ารัฐกว่า 27,000 ล้านบาท

          พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz  ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.

          ทั้งนี้ ในช่วงเช้ามีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 4 ราย โดยในเวลา 08.46 น. นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ กรรมการ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เป็นตัวแทนเข้ายื่นใบคำขอรับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นรายแรก

          ต่อมาในเวลา 09.00 น.นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในฐานะผู้รับมอบจากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ DTAC เข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นรายที่ 2

          ขณะที่ในเวลา 10.35 น. นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เป็นตัวแทนเข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นรายที่ 3

          จากนั้นนายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เป็นตัวแทนบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ TRUE เข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นรายที่ 4 ในเวลา 11.09 น.

          อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา 16.30 น. บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด เป็น 1 ใน 8 บริษัท ที่เข้ามารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาต (เอกสารการประมูล) ไม่ได้เดินทางมายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz

          โดยขั้นตอนในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มี 3 ขั้นตอน เริ่มจากการลงทะเบียนและลงเวลา จากนั้นยื่นเอกสาร ได้แก่ แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน พร้อมเอกสารประกอบพร้อมสำเนาเอกสาร 2 ชุด และเอกสารที่บันทึกลงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมค่าพิจารณาคำขอรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 535,000 บาท และวางหลักประกันการประมูล จำนวน 644 ล้านบาท กับสำนักงานกสทช. และขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการตรวจเอกสารเบื้องต้น

          สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตฯ แล้วจึงนำเสนอกทค.พิจารณา โดยจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายในวันที่ 3 พ.ย. 2558 และจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตทราบ จากนั้นจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่จัดการประมูล ที่อาคารอำนวยการชั้น 3 สำนักงานกสทช.ในวันที่ 3 พ.ย. 2558 และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและจัดการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงวันที่ 6 พ.ย. 2558 ก่อนจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 12 พ.ย. 2558 คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2558

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูลจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ดังนั้น ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อยู่ที่ 12,864 ล้านบาท คิดเป็นราคาขั้นต่ำ 80% ของมูลค่าคลื่นประมูลเพิ่มขึ้นครั้งละ 644 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งละ 5% ของมูลค่าคลื่น เมื่อถึง 16,080 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าคลื่น 100% ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นเหลือครั้งละ 322 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งละ 2.5% ทำให้รัฐได้รายได้ขั้นต่ำ 27,016 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ยืนยันว่าการประมูลเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ส่วนกรณีของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT จะยื่นฟ้องหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายคลื่นความถี่ดังกล่าวจะต้องคืนกลับมาเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ดังนั้น หากศาลยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทาง กสทช.ยังคงดำเนินการตามกรอบการประมูลที่วางไว้

          ขณะเดียวกันการเลื่อนวันประมูลคลื่น 900 MHz ขึ้นเร็วมาเป็นวันที่ 12 พ.ย. 2558 ยืนยันว่าการฮั้วประมูลจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ทุกขั้นตอนแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ได้เชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูต 6 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และจีน เพื่อร่วมสังเกตการณ์การประมูล

          นายฐากร กล่าวว่า ในวันที่ 22 ธ.ค. 2558 จะครบกำหนดการชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 MHz ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายที่ต้องชำระเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,135.69 ล้านบาท แบ่งเป็น DTAC และ TRUE ต้องจ่ายบริษัทละ 3,611.25 ล้านบาท ส่วน ADVANC ต้องจ่าย 3,912,15 ล้านบาท