บจ.ฉวยตลาดซึมซื้อหุ้นคืนโบรกมองดันราคาระยะสั้น

Published on 2015-07-06   By กรุงเทพธุรกิจ

 

          สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

          ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนี ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากบริเวณ 1,480 จุด ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,600 จุด ถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ดัชนีหุ้นไทยผันผวนค่อนข้างมาก และล่าสุดได้ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 1,480 จุด เช่นเดิม

          ท่ามกลางภาวะที่เกิดขึ้นถือเป็น ทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับผู้ลงทุน  รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน

          แต่ในส่วนของบริษัทที่มีสภาพคล่องเพียงพอ หรืออาจจะถึงขั้นเหลือล้น เมื่อเทียบกับแผนการลงทุนในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้ บริษัทเหล่านี้ย่อมมีความพร้อมที่จะตอบรับโอกาสในการลงทุนหรือบริหารสภาพคล่องอยู่เสมอ จากการติดตามข้อมูลในรอบปีที่ผ่านมา พบว่ามี 8 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่มีโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อบริหารทางการเงิน  (Treasury Stocks) ได้แก่ บริษัท  จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS  บริษัท บางกอกแลนด์ หรือ BLAND  บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ หรือ CI บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS บริษัท ทุนธนชาต หรือ TCAP บริษัท  พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH บริษัท เอสวีไอ หรือ SVI และบริษัท  ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน หรือ ROBINS

          นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เอเซีย พลัส มองว่า จำนวนบริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืนทั้ง 8 บริษัท ในรอบ  1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไม่ได้เป็นจำนวนที่มาก แต่อย่างใด เพราะโดยธรรมชาติของการ ซื้อหุ้นคืนนั้นจะเกิดขึ้นในภาวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาก แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนัก และอาจจะอยู่ในระดับที่แพงเสียด้วย โดยปกติแล้วการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนเป็นวิธีการบริหารสภาพคล่องของบริษัทอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะบริษัทที่มี สภาพคล่องเหลืออยู่มาก และไม่มีภาระทางการเงินที่จะต้องใช้จ่ายในอนาคต ทำให้บางบริษัทตัดสินใจเลือกใช้วิธีการดังกล่าว  นอกจากจุดประสงค์เพื่อการบริหารสภาพคล่องแล้ว การซื้อหุ้นคืนอาจจะทำ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง หรือ ลดลงต่ำกว่าพื้นฐานก็เป็นได้ อีกทั้ง ยังช่วยสะท้อนให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัท มีสภาพคล่องมากพอที่จะรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต จากข้อมูลที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในโครงการซื้อหุ้นคืนของทั้ง 8 บริษัท  พบว่ามี 4 บริษัท ที่สิ้นสุดโครงการแล้ว ได้แก่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลซื้อหุ้นคืนจำนวนทั้งสิ้น 142.73 ล้านหุ้น  คิดเป็นมูลค่า 989.69 ล้านบาท หรือ 2%  ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัท บางกอกแลนด์ ซื้อหุ้นคืนจำนวน 1,155.01 ล้านหุ้น  มูลค่ารวม 2,336.02 ล้านบาท หรือ 5.59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัท ชาญอิสสระดีเวล็อปเมนท์ ซื้อหุ้นคืนจำนวน 11.25 ล้านหุ้น  มูลค่ารวม 24.64 ล้านบาท และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซื้อหุ้นคืนจำนวน 95.83 ล้านหุ้น มูลค่า 925.19 ล้านบาท

          ขณะที่อีก 2 บริษัทที่อยู่ระหว่าง การซื้อหุ้นคือ ได้แก่ บริษัท ทุนธนชาต  ซื้อหุ้นคืนไปแล้วทั้งสิ้น 41.35 ล้านหุ้น  มูลค่ารวม 1,397.23 ล้านบาท คิดเป็น 3.24% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง ซื้อหุ้นคืนไปแล้วทั้งสิ้น 20 ล้านหุ้น มูลค่า 175.02 ล้านบาท คิดเป็น 1.29% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมี ครบกำหนดโครงการวันที่ 9 ส.ค. 2558 และวันที่ 21 ก.ค. 2558 ตามลำดับ นอกจากนี้คือบริษัท เอสวีไอ และบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทให้ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 200 ล้านหุ้น หรือในวงเงิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.83% และซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 111.06 ล้านหุ้น ในวงเงิน 100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ตามลำดับ สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นระหว่างการซื้อหุ้นคืนของทั้ง 8 บริษัท พบว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน อย่างบริษัท จัสมิน ซึ่งเริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2557 ถึง 18 ธ.ค. 2557 ราคาหุ้นลดลง 13% ขณะที่บริษัท บางกอกแลนด์ เริ่มซื้อวันที่ 25 ส.ค. 2557 ถึง 30 ธ.ค. 2558 ราคาหุ้นลดลง 28% บริษัท ชาญอิสสระ เริ่มซื้อวันที่9 ธ.ค. 2557 ถึง 8 เม.ย. 2558 ราคาหุ้นลดลง 2.8% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป  โฮลดิ้งส์ เริ่มซื้อวันที่ 25 ส.ค. 2557 ถึง  9 ก.ย. 2557 จำนวน ราคาหุ้นลดลง 2.05%  ในแง่ของผลกระทบต่อราคาหุ้น นายเทิดศักดิ์ มองว่า การซื้อหุ้นคืนอาจจะมีอานิสงส์ต่อราคาหุ้นในช่วงที่บริษัทซื้อคืนอยู่นั้น แต่เมื่อกระบวนการซื้อหุ้นคืนจบลงอานิสงส์ต่อราคาหุ้นก็น่าจะหมดไปด้วย อย่างไรก็ตามหากมีความต้องการหุ้นเข้ามามากขึ้นอาจจะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้มากกว่าปกติ เพราะจำนวนหุ้นที่หมุนเวียน มีน้อยลง แต่ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าการ ซื้อหุ้นคืนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มราคาหุ้นในอนาคต เพราะจุดประสงค์หลักคือการบริหารสภาพคล่องเท่านั้น  "การที่หุ้นจะขึ้นหรือลงภายหลังจากการซื้อหุ้นคืนนั้น โดยส่วนตัวมองว่า การซื้อหุ้นคืนไม่ใช่คีย์ ซัคเซส เพราะ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการซื้อหุ้นคืนคือการบริหารสภาพคล่องของบริษัท ขณะที่แนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคตคงจะเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเหล่านั้น"

          นายเทิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ หลักเกณฑ์ที่สำคัญของการซื้อหุ้นคืนคือ บริษัทจะต้องถือหุ้นไว้อย่างน้อย 6 เดือนหลังจากที่ครบกำหนดซื้อหุ้นคืนแล้ว  ส่วนภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องถือครองหุ้นไว้ บริษัทอาจจะทยอยขายหุ้นคืนผ่านกระดานซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือบริษัทอาจจะถือหุ้นจนครบ 3 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นบริษัทสามารถจดทะเบียนลดทุน ในส่วนของหุ้นที่ซื้อมาได้ ซึ่งวิธีหลังนี้ จะช่วยให้จำนวนหุ้นของบริษัทลดลง  ส่งผลให้ผลตอบแทนต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

          อย่างไรก็ตามการซื้อหุ้นคืนย่อมมี ข้อจำกัดเช่นกัน อย่างในกรณีของบริษัท ที่ต้องการจะเพิ่มทุน หากบริษัทถือครองหุ้นที่ซื้อคืนอยู่ บริษัทเหล่านั้นจะไม่สามารถ เพิ่มทุนจดทะเบียนได้

          'การซื้อหุ้นคืน ไม่ใช่คีย์ ซัคเซส ที่ส่งผลให้หุ้นขึ้น'