คอลัมน์ โลกมองไทย: การเมืองไม่สงบทำตลาดหุ้นไทยซบ

Published on 2015-05-15   By โพสต์ทูเดย์

          การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ เดือน พ.ค. 2014 ใกล้จะครบ 1 ปี เข้าไปทุกที แต่ความไม่สงบทางการเมืองของไทยที่ดำเนินมายาวนานนับ 10 ปี ยังคงส่งผล

          โดยตรงต่อภาคเอกชนและเศรษฐกิจของไทย

          ไฟแนนซ์เอเชีย เว็บไซต์ข่าวสารด้าน การลงทุนและการเงิน ลงข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์อัตราการลงทุนที่นำเสนอให้สู่สถาบันการเงินของไทย (ดีลโฟลว์) เช่น หุ้นเสนอขายครั้งแรก (ไอพีโอ) และการ ควบรวมกิจการของภาคเอกชนไทย ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเมื่อปีก่อน

          ไฟแนนซ์เอเชียรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ธนาคารต่างชาติสาขากรุงเทพฯ ไม่เปิดเผยนาม ว่า ดีลโฟลว์ต่างๆ ระงับลง หลายบริษัทไม่มีแผนขนาดใหญ่จะขยายกิจการเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวลงอีกด้วย

          ตั้งแต่เริ่มปี 2015 ภาคเอกชนของไทยมีการเพิ่มทุนทั้งหมด 2,200 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมาจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอเพียงกองทุนเดียว คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล มูลค่า 1,100 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวดังกล่าว ระบุว่า ภาคส่วนหุ้นไอพีโอได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนักลงทุนภายในประเทศ โดย นักลงทุนเหล่านั้นจะมองหาหลักทรัพย์ที่ ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ไอพีโอของจัสมิน มีผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลถึง 6.07% นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาด หลักทรัพย์ของไทยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง ครึ่งปีหลังของปี 2015

          ในขณะเดียวกัน ภูมิใจ ขำภโต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจรายใหญ่และหลักทรัพย์ของธนาคารดอยช์ ประเทศไทย ยังเปิดเผยว่า เอกชนขนาดใหญ่ของไทยกำลังออกไปลงทุนควบรวมกิจการในต่างประเทศกันมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยและความไม่แน่นอนทางการเมือง โดย 10 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ได้ออกไปควบรวมกิจการต่างประเทศแล้ว

          ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางเองก็ออกไปควบรวมกิจการในต่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทธุรกิจโรงแรมเองก็ได้ออกไปควบรวมกิจการกับโรงแรมในบราซิลและโปรตุเกส 6 โรงแรม มูลค่า 182 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,000 ล้านบาท)

          ภูมิใจ ระบุว่า เมื่อคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแล้ว ยุโรปนับเป็นสถานที่ ที่น่าลงทุนมาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

          ทั้งนี้ ด้านการควบรวมกิจการในรูปแบบที่ต่างชาติเข้ามาควบรวมกิจการในไทยฮาร์ชา บาหนายาค หัวหน้าที่ปรึกษาการทำธุรกรรมอาเซียน กล่าวว่า ต่างชาติที่เข้ามาควบรวมกิจการชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและนักลงทุนต่างชาติต่างสนใจเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียนอื่นๆ เช่น สิงคโปร์และอินโดนีเซียมากกว่า