สัมภาษณ์: ยุคที่ 2(พิชญ์) โพธารามิกถึงเวลาขยายอาณาจักรกลุ่มจัสมิน

Published on 2015-05-11   By ประชาชาติธุรกิจ

          นับเป็นลูกไม้ใต้ต้นอย่างแท้จริงสำหรับ "พิชญ์ โพธารามิก" ซีอีโอ กลุ่มจัสมิน ที่มากกว่าคือเขาสามารถก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้เองแต่แรกตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ธุรกิจดอตคอมในเมืองไทย ในฐานะผู้สนับสนุนเงินทุนให้นักพัฒนา เรียกว่าเป็น "วีซี"ยุคแรก ๆ ก็น่าจะได้

          รวมเข้ากับความสนใจส่วนตัวด้านความบันเทิง ทั้งภาพยนตร์, ละคร, เพลง, เกม หรือแม้แต่สิ่งพิมพ์ ให้บริการเกม, ข่าว SMS, คอนเทนต์ต่าง ๆ บนมือถือ และเข้าไปซื้อเว็บไซต์เอ็มไทยดอทคอม เวลานั้น ไม่มีใครคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้

          เมื่อต้องมารับช่วงกิจการต่อ ก็ไม่ทำให้ "ดร.อดิศัย โพธารามิก" ผู้พ่อผิดหวัง เขาไม่เพียงพลิกฟื้นธุรกิจจากบริษัทที่โดนฟ้องล้มละลายให้กลับสู่สนามแข่งขันอย่างไม่น้อยหน้าใครกับธุรกิจบรอดแบนด์ ภายใต้ชื่อ "3BB" ฟากคอนเทนต์ที่รักยังขยายไปใน "ดิจิทัลทีวี" และในปีเดียวช่องโมโนก้าวขึ้นสู่ 1 ใน 5 ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด

          อะไรคือเป้าหมายถัดไป และอนาคตกลุ่มจัสมิน "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับแม่ทัพกลุ่มจัสมินดังนี้

          ประกาศว่าจะเข้าประมูล 4G

          4G เราทำแน่นอน เมื่อฟิกซ์บรอดแบนด์แข็งแรงแล้ว จะไปต่อที่โมบาย จริง ๆ ไม่ได้มองแค่โมบาย แต่เป็นเรื่องการ เชื่อมต่อ (Connectivity) คนดูเฟซบุ๊ก อัพรูปขึ้นไอจี ใช้มือถือหมด แต่สปีดยัง ไม่ใช่ของจริง อย่าง 3G เรียกว่าโมบายอินเทอร์เน็ตได้ แต่ไม่ถึงโมบายบรอดแบนด์ ทำให้ทุกครั้งที่เราเจอไวไฟ เราจะวิ่งเข้าไปหาก่อน

          การเข้าประมูล 4G เป็นไดเร็กชั่นที่ค่อนข้างชัด คิดว่าสู้ได้ ที่ผ่านมาแข่งกัน 3 ราย แต่วันนี้เรามาเป็นรายที่ 4 เป็น นิวคัมเมอร์ ช่วงแรกไม่ได้ตั้งเป้าลูกค้าเยอะ ทาร์เก็ต กลุ่มที่ใช้ดาต้ามาก ๆ

          เรื่องพาร์ตเนอร์มีมากกว่า 5 รายที่สนใจ เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและฝั่งยุโรปด้วย สนใจเข้ามาถือหุ้นในจัสมิน เพราะอยากได้ทั้งฟิกซ์และโมบาย

          จะเปิดทางให้เข้ามาแค่ไหน

          15-20% ส่วนตัวผมถืออยู่ 25% นิด ๆ ถ้ามีพันธมิตรเข้ามาก็จะไดลูตลงไป ผมไม่มีปัญหา ถ้าแวลูบริษัทดีขึ้น อาจมีการเพิ่มทุนที่บริษัทแม่ก็ต้องมาคุยกันว่า กี่เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้สรุป เพราะคงประมูลก่อน ถ้าได้ไลเซนส์ชัดแล้วค่อยว่ากันอีกที มาตอนนี้กับหลังประมูลได้ไม่ต่างกัน ยังไงเราก็ลุยประมูล  เข้ามาทีหลังก็ได้แวลูสูงขึ้น

          ธุรกิจมือถือยากสำหรับรายใหม่

          ต้องมีกลยุทธ์ ที่เป็นจุดแข็งอันดับแรก คือ ประสิทธิภาพในการบริหารงาน เห็นได้จาก Ebitda (กำไรจากการดำเนินงาน)

          ของกลุ่มเราอยู่ที่ 57% เราคุมค่าใช้จ่ายได้ดีมาก สูงสุดในอุตสาหกรรม แต่ละบริษัทมีการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน ไปดูช็อปคนอื่นโก้หรู ของเราเล็ก ๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราคุมค่าใช้จ่ายได้ดี เรามีบุคลากร 6 พันคนทั่วประเทศ มี 350 ช็อปคีออสก์ พอเกิด 4G ก็ต่อยอดได้ทันที

          เสาสัญญาณไม่มีสักต้น

          เสาคือค่าใช้จ่ายหลัก ที่ผ่านมาต้องลงทุนเยอะ แต่วันนี้เราคุยกับทรูจีฟ (กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม) เขาก็พร้อมให้เช่า ไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงานไม่เป็นรองใคร ในแง่เน็ตเวิร์กก็แข็งแรง หมายถึงมีไฟเบอร์ออปติกล้านกว่าคอร์กิโลเมตรทั่วประเทศ

          วันนี้อยู่ในกองทุนแล้ว และนำใช้ประโยชน์ได้หมด เน็ตเวิร์กมีเหลือเฟือ ซึ่งเชื่อมโยงไปตามเสา อุปกรณ์ที่เสาต้องติดตั้ง ที่เหลือเป็นการเชื่อมเน็ตเวิร์กกลับเข้ามา คอร์เน็ตเวิร์กที่ต่อไปต่างประเทศก็มี เครือข่าย ไวไฟแสนจุดที่ให้เอไอเอสและดีแทคใช้ อยู่ก็ดับเบิลคาพาซิตี้ได้ ไวไฟเป็นตัวที่ทำให้เกิดซีมเลสระหว่าง 4G มาที่ไวไฟโดยอัตโนมัติ

          เป้าหมายคือต้องประมูลให้ได้

          ถ้าครั้งนี้ไม่ได้ ครั้งต่อไปก็ต้องได้ คือให้ได้สักใบ

          เคยบอกจะทำตั้งแต่ 3G แล้ว

          3G เทคโนโลยีดีไม่เท่า LTE ยังไม่ใช่โมบายบรอดแบนด์ เป็นไทมิ่งด้วย มีเงินพอดี ถ้าเร็วกว่านั้นอาจไม่ทัน แต่วันนี้ได้เงินมาก้อนหนึ่ง จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) เมื่อจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้นแล้ว หนี้จริงเหลือแค่พันล้าน ฉะนั้นศักยภาพในการกู้ใหม่มี ทั้งมีวอร์แรนต์ซึ่งมีมูลค่า 5 ปี เท่ากับเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น เป็นอีกเครื่องมือ ในการทยอยการเพิ่มทุนได้

          ไฟแนนเชียลเกมเป็นเครื่องมือในการจัดการได้หลายวิธี

          ขยายอาณาจักรไปสู่สิ่งใหม่ด้วย

          จริง ๆ เป็นสิ่งที่คุณพ่ออยากทำมาตั้งแต่สมัยก่อน เราเคยได้ไลเซนส์มือถือที่อินเดีย พอปี 1997 วิกฤตเศรษฐกิจ ทุกอย่างก็ล้มไปหมด วันนี้เป็นสิ่งที่เรามาสานต่อ แต่ถ้าไม่ทำวันนี้โอกาสที่บรอดแบนด์จะมีปัญหาก็มี ถ้าต่อไปมี 5G ล่ะ คือคนจะหันมาใช้มือถือเยอะขึ้น บรอดแบนด์ก็ยังมีแต่อาจเริ่มนิ่ง การลุย 4G ทำให้เราอยู่ในโพซิชันนิ่งที่ได้เปรียบ คนอื่นคลื่น 12.5 MHz น้อย แต่เราเยอะแล้ว โอกาสที่คุณภาพบริการจะดีกว่าก็ค่อนข้างสูง

          มือถือลงทุนเยอะไม่ใหญ่จริงเหนื่อย

          ไม่เรียกว่าเหนื่อย กลยุทธ์ผม คือ 1.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ 2.เน็ตเวิร์ก 3.อุปกรณ์หรือดีไวซ์ สมาร์ทโฟน มีในไทย 30 ล้านเครื่อง ที่เป็นไฮเอนด์รองรับ LTE อยู่แล้ว และต่ำหมื่นเริ่มเข้ามาเยอะ ยุคต่อไปของมือถือรุ่นใหม่จะเป็น LTE แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีคือไวไฟ ถ้าเป็นค่ายมือถืออย่างเดียวอาจไม่สนไวไฟมาก แต่ผมเป็นบรอดแบนด์ มีไวไฟอยู่แล้ว ทุกคน ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ไวไฟได้ถือเป็นลูกค้าเรา คำว่า ดีไวซ์ของผม ที่บอกมี 30 กว่าล้าน มือถือมี 15 ล้านที่เป็นโพสต์เพดจ่ายรายเดือน คนกลุ่มนี้ที่จะดึงมาเป็นลูกค้า เราบันเดิลหรือทำมัลติดีไวซ์ได้ เราก็ต้องมีกลยุทธ์ มีแท็กติกในการเข้าสู่ตลาด

          เงินลงทุนก้อนแรก

          ในแง่ไลเซนส์ แบ่งจ่าย 50% แล้วค่อยทยอยจ่าย เงินที่เตรียมไว้คงยังบอกไม่ได้ แต่รวม ๆ มี 3-4 หมื่นสบาย ๆ กระแสเงินสดหมื่นกว่าล้านบาทในบริษัทจากกองทุน และมีวอร์แรนต์ที่จะทยอยเข้าอีกหลักหมื่นล้านบาท และกู้ได้อีก รวมถึงการมีพาร์ตเนอร์ ส่วนบุคลากรมีอยู่แล้วทั่วประเทศ ไม่ได้นับหนึ่งใหม่

          ยากที่สุดคือไลเซนส์

          คงแข่งขันกันพอสมควร มุมธุรกิจ คอนเทนต์ เรามีช่องโมโน ทำดิจิทัลทีวี วันนี้อยู่ในอันดับ 5 โฆษณาเริ่มเยอะ มี.ค. ที่ผ่านมา เข้ามา 50 กว่าล้านบาทแล้ว เต็มสลอต 18 ชั่วโมงจากเป้าเดือนละ 100 ล้านบาท ทำให้ปรับราคาขึ้นจาก 5 พัน เป็น 8 พัน และขยับมาหมื่นสอง หมื่นห้า และสองหมื่น ชนะช่อง 5 และ 9 เรา ซื้อหนังและซีรีส์เยอะที่สุดในประเทศจากสตูดิโอใหญ่ทุกราย ซื้อเป็นออลไรต์ใช้ได้ทุกอย่าง เมื่อมี 4G ก็ง่ายเลย มีดูหนัง ดอตคอมอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต ลูกเล่นตรงนี้เอามาใช้ประโยชน์บน 4G ได้

          จบการเงินเข้าสู่ธุรกิจคอนเทนต์ได้ยัง     มีพรรคพวกมาชวนทำตั้งแต่ 15-16 ปีที่แล้ว เริ่มจากทำละครให้ช่อง 7 ก็เจ๊งนะ ละครชื่อสื่อรักภาษาใจเรื่องแรก กับช่อง 3 ก็เคย หนังทำเจ๊งมาไม่รู้กี่เรื่อง จากวันนั้น ทำให้มีพื้นฐานด้านนี้ เป็นที่มาของช่องโมโนที่โฟกัสเป็นช่องหนังกับซีรีส์    ค่อย ๆ ทำของเราไปเอง ตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้ามาในกลุ่มจัสมิน คุณพ่อออกไปทำงานการเมืองแล้วให้มืออาชีพมาทำต่อ ผมเลยไปทำอะไรของตัวเอง กอสซิปสตาร์ มีรุ่นน้องมาเสนอ ก็ลองทำ พิมพ์ครั้งแรก 5 พันเล่ม ปีเดียวเพิ่มมาพิมพ์เกือบสองแสนเล่ม เพิ่มทุกเดือน  เป็นหนังสือเล่มเดียวที่กำไรจากการขาย เพราะตั้งราคาสูงและยอดขายเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วนะ ต่อมาก็ซื้อเว็บไซต์เอ็มไทย คือฝั่งหนึ่งอยู่ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อีกฝั่งเรื่องไอที

          สร้างธุรกิจเอง

          ตอนนั้นคุณพ่อยุ่งเรื่องการเมือง แต่ก็คอยแนะนำว่า ให้ไปหัดทำอะไรเอง ไปเกาหลี ไปญี่ปุ่น ไปเจอ KT ไปเจอซอฟต์แบงก์ ถึงบอกว่าเรื่องพวกนี้อยู่ในหัวอยู่แล้ว ธุรกิจคอนเทนต์ รู้ว่าทำยังไง

          2 ปีที่แล้วมีประมูลทีวี โมโนเพิ่งเข้าตลาดเลยมีเงินทำให้เข้าประมูลด้วย แต่สุดท้ายแล้วเรื่องไฟแนนเชียลสำคัญ คนอื่นอาจสะบักสะบอม แต่เราสบาย เพราะเงินมีอยู่แล้ว 7 หมื่นล้าน คือ ถ้าเจาะถูกจุด เงินจะไหลมาเอง ถึงได้มีการปรับราคาโฆษณาขึ้น

          ฐานลูกค้าเว็บกับทีวีคนละกลุ่ม ลูกค้าหลัก ของโมโน 29 อายุ 40 อัพ ซึ่งก็ดี โฆษณาชอบ ขณะที่เด็กยุคใหม่ไปอยู่กับอินเทอร์เน็ต

          ความท้าทาย

          4G ก็ท้าทาย สำหรับผมเป็นสเต็ป ๆ ทำบรอดแบนด์มาจุดหนึ่ง ดูภาพรวมจัสมิน ก็ท้าทาย ไปคุยกับต่างชาติบินไปรอบโลกใน 4-5 วัน คุยกับนักลงทุน คอนวินซ์ให้มาลงทุนไม่ง่าย วันก่อนไปบอสตันวันเดียวไม่รู้กี่ที่ 4G มาเติมเต็มตลาดมีอยู่แล้วถ้าเอาเซอร์วิสที่ดีมากมาให้โอกาสเติบโตจะสูง

          ภาพผูกกับตลาดหุ้น

          ต้องเข้าใจตลาดเงิน ผมว่าเข้าใจเยอะแล้วก็ยังไม่มากพอ เราต้องพยายามศึกษา ที่ใช้ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น อย่างโมโน ถ้าไม่รู้เรื่องการเงิน เดินดุ่ย ๆ ไปประมูลทีวีดิจิทัลมาทำก็เจ๊ง คู่แข่งตั้ง 20 กว่าคน จึงต้องวิเคราะห์ทุกรายมาแล้วว่า แต่ละรายแข็งแรงด้านการเงินไหม ดูเงินสดมีเท่าไร หนี้เท่าไร รู้ตรงนี้ช่วยได้เยอะ ไฟแนนเชียลเกมสำคัญ

          พนักงานทั้งหมด

          จัสมิน 6,000 กว่า โมโนพันคน ถ้ามี 4G ก็คงขยายเพิ่มบ้างแต่ไม่เยอะ มีสิ่งพิมพ์ 10 กว่าหัว ไบโอสโคปเรื่องหนัง, กอสซิปสตาร์ เป็นต้น เราไม่ได้ทางเดียว แต่จะต่อยอดไปหลายทางทั้งเว็บ สิ่งพิมพ์ ต้องคิดให้ครบทุกด้าน

          เป็นจัสมินในยุคของพิชญ์

          คุณพ่อก็ยังให้คำแนะนำตลอดเวลา อย่าง 4G ท่านก็บอกให้ลุย

          สำหรับเราเป็นเจเนอเรชั่นต่อไปก็ต้องสู้ ตรงนี้ ท่านร่างกายไม่แข็งแรงแต่มองขาด การอ่านเกม ความเก๋ายังมี ถ้าบวกกันได้ก็ไปได้