รายงาน: เกมใหม่ศึกมือถือเมื่อ โพธารามิก-พานิชชีวะ ขอเป็นตัวเลือก...

Published on 2015-05-07   By ฐานเศรษฐกิจ

          ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้จำกัดผู้เล่นเพียง 3 รายคือ เอไอเอส - ดีแทค- กลุ่มทรู อีกต่อไปแล้ว

          เพราะขณะนี้ตระกูลใหญ่ๆ เรียกได้ว่าระดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย อันได้แก่ ตระกูลโพธารามิก และตระกูลพานิชชีวะ ประกาศขอเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ทว่าการก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่  หลายคนตั้งคำถาม?  ทำไมถึงกล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ แต่ละรายมีฐานลูกค้ากว่า 20 ล้านเลขหมาย และการลงทุนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง

          ที่สำคัญธุรกิจนี้เคยมีบทเรียนให้เห็นจาก ตระกูลวิไลลักษณ์ หลังจากเข้ามาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด จนต้องล่าถอย พร้อมทั้งขายธุรกิจให้กับกลุ่มชินคอร์ป ไปแล้ว

          แต่สุดท้ายก็ยังไม่ทิ้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพียงแต่พลิกบทบาทจากโอเปอเรเตอร์ มาเป็นผู้ทำหน้าที่ด้านการตลาดและขายให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

          ธุรกิจที่ท้าทาย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตระกูลพานิชชีวะ เส้นทางเติบโตมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และ ประกันภัย  หากแต่ทายาทคนหนึ่ง นั่นคือ "นที พานิชชีวะ" กลับสนใจในเรื่องของเทคโนโลยี และกล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุน

          "นที" บอกกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือได้ว่าเป็นธุรกิจใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทาย และน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องถือติดตัวไปตลอดเวลา

          และนั่นจึงเป็นที่มาที่ "นที" ยอมควักเงิน 3 พันล้านบาทเข้ามาลงทุนโดยไม่ลังเล โดยบอกว่าการลงทุนครั้งนี้ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานนัก เมื่อโอกาสผ่านเข้ามาจึงได้ตัดสินใจเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เพื่อทำหน้าที่ในลักษณะขายต่อหรือบริการ (รีเซลเลอร์) เป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมกับเปลี่ยนทั้งชื่อ และแบรนด์เป็น บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด ภายใต้ชื่อ "168" อีกด้วย

          ตั้ง "ล็อกซเล่ย์-อมรินทร์"ขยายแขนขา

          ที่สำคัญไปกว่านั้นการเข้ามาเป็นผู้ลงทุนในฐานะ รีเซลเลอร์ ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจในเครือ อันได้แก่บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด ที่มีฐานลูกค้าประกันภัยกว่า 1 แสนราย ต่อไปในอนาคตพัฒนาแอพพลิเคชัน 168 เพื่อติดต่อกับระบบประกันภัย

          ไม่เพียงแค่ต่อยอดธุรกิจในเครือแต่ "นที" ยังได้ดึงมือปั้นแบรนด์ "จีเน็ต" คือ "ฑัศ เชาวนเสถียร" เข้ามานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและขาย

          ในด้านกลยุทธ์ทางการตลาด "นที" ได้แต่งตั้ง บริษัท ล็อกซเล่ย์  จำกัด (มหาชน) ให้เป็น Authorized Dealer เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรโมชันและบริการในช่องทางต่างๆ

          นอกจากนี้แล้วยังได้แต่ตั้ง บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด หรือร้านนายอินทร์ ให้เป็น Authorized Reseller เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีช่องทางถึง 205 สาขาทั่วประเทศ

          ปีแรกขอล้านเบอร์

          เป้าหมายการจัดจำหน่าย "ซิมการ์ด" ภายใต้แบรนด์ "168" ครั้งนี้ "นที" บอกว่า ขอมีส่วนแบ่งการตลาดจำนวน 1% หรือประมาณ 1 ล้านเลขหมาย เพราะด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด และคุณภาพสัญญาณของแคท ที่ผ่านไฟเบอร์ออพติก และเสาส่งสัญญาณจำนวน 1.4 หมื่นต้น มั่นใจว่าสัญญาณที่ให้บริการ "โทรชัด ติดง่าย สายไม่หลุด"

          "พิชญ์" ลั่นประมูล 4 จี

          ขณะที่ 168 ประกาศเปิดตัวไปอย่างรวดเร็วโดยอาศัยเครือข่ายของ "แคท" ในการเปิดให้บริการ หากแต่ก่อนหน้านี้ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ระบบ 4 จี  ได้แก่ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์, 1800  เมกะเฮิรตซ์, 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำคลื่นที่ได้มาเปิดให้บริการโมบาย อินเตอร์เน็ต

          เหตุผลที่จัสมิน เตรียมเข้าประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี ของ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) แหล่งข่าวจากวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่าวให้ความเห็นว่า เนื่องจากจัสมินต้องการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาเสริมบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต แม้จะให้บริการบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ออพติก และผ่านไว-ไฟ ขณะที่คู่แข่ง คือ ทรู-ดีแทค-เอไอเอส และทีโอที ให้บริการไวร์เลสบรอดแบนด์เช่นเดียวกัน

          ยกตัวอย่างในต่างประเทศผู้ประกอบการที่ให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอยู่ได้ ต้องมีไวร์เลส (โทรศัพท์เคลื่อนที่) เข้ามาเสริมถึงจะไปต่อได้ ดังนั้นจัสมินถึงกล้าลงทุนเพื่อที่จะมาต่อยอดรายได้ในส่วนบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต

          แผนธุรกิจใหม่

          ขณะที่โครงสร้างธุรกิจใหม่ คือ "Mobile Broadband 4G (MBB)" ทำธุรกิจควบคู่กับ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ 3BB โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กว่า 1.7 ล้านราย

          นอกจากนี้หลังขายหุ้นในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้จ่ายปันผลพิเศษ (ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาทต่อหุ้น) ตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับจำนวนเงินที่เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทมีแผนที่จะสำรองไว้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ "Mobile Broadband 4G (MBB)" โดยเบื้องต้นบริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาติ 4 จี และจากที่ประเมินเงินลงทุนสำหรับโครงการดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-3.5 หมื่นล้านบาท

          หาพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ

          ในส่วนของแผนการจัดหาเงินทุนนั้น จะมาจากเงินที่จัดตั้งกองทุน JASIF ที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงการร่วมทุนจากพันธมิตรอีก 1 หมื่นล้านบาท จากที่ได้เจรจาไว้ บริษัทรายดังกล่าวให้ความสนใจที่จะเข้าดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท โดยพันธมิตรของบริษัทมีความแข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญในการทำ 4 จีมาแล้ว

          จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าเกมการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเพิ่มดีกรีทวีความร้อนแรงระดับใด หลังจาก 2 ตระกูลใหญ่ "โพธารามิก และพานิชชีวะ" ขอเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค