ย้ำสัญญาส้มปทานระบบ 900 สิ้นสุดลง กย.ปีนี้ AIS ย้ายฐานลูกค้า"ซิมดับ"

Published on 2015-04-20   By แนวหน้า

นับถอยหลังสัญญาระบบ 2G ที่ "ทีโอที" ให้สัมปทานกับ "เอไอเอส" สิ้นสุดเดือนก.ย.ปีนี้ พบมีผู้ใช้สูงถึง 8 ล้านเลขหมาย เตือนให้ย้ายไปใช้ให้บริการระบบ 3G ก่อน "ซิมดับ" ด้าน "สมชัย" เตรียมเสนอ "กสทช." ออกมาตรการเยียวยา ห่วงไม่สามารถย้ายได้ทัน พร้อมประกาศชิงใบอนุญาต 4G รวม 2 ใบ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น

          นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2558 นี้ สัญญาร่วมการงาน หรือสัญญาสัมปทานที่ เอไอเอส ได้รับจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เพื่อใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (เมกะเฮิรตซ์) หรือใน ระบบ 2G จะสิ้นสุดลง

          โดยเร็วนี้ๆ ทาง เอไอเอส มีแผนจะยื่นเรื่องเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ(กสทช.) เพื่อขอให้ กสทช. ออกมาตรการเยียวยาให้ลูกค้าที่ยัง คงค้างการใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ สูงว่าจะมีผู้ที่โอนย้ายการใช้งานไม่ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

          "เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป จนกว่าผู้ที่ชนะการประมูลใช้งานใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. มีแผนจะเปิดประมูลวันที่ 15 ธันวาคม 2558 จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ" นายสมชัย กล่าว

          ปัจจุบันลูกค้า เอไอเอส ที่ยังมีการใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มีอยู่ราว 8 ล้าน เลขหมาย จากฐานลูกค้ารวมของ เอไอเอส ราว 44 ล้านเลขหมาย โดยลูกค้าที่ยังใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนใหญ่พบว่า เป็นลูกค้าที่ใช้งาน ในระบบพรีเพด(บัตรเติมเงิน) ซึ่ง จากนี้ เอไอเอสจะยังคงทำความเข้าใจกับลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ย้ายมาใช้งานกับ เอไอเอสต่อ หรือมาใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ (ภายใต้ใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช.)

          ส่วนผู้ที่จะใช้บริการคลื่นความถี่ 900 MHz ในเวลานี้เอไอเอสได้สิ้นสุด การให้ลูกค้าที่เปิดเบอร์ใหม่เพื่อใช้งาน แล้วเช่นกัน

          นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของ การประมูลใบอนุญาต 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ขอยืนยันว่า เอไอเอส จะเข้าร่วมประมูลครบทั้ง 2 ใบอนุญาตแน่นอน เพื่อนำคลื่นความถี่ที่ได้มาให้บริการลูกค้าของเอไอเอสอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งหากเอไอเอสชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการโอนย้ายลูกค้าที่ยังค้างการใช้งานอยู่หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาอยู่กับเอไอเอสต่อเหมือนเดิมหรือไม่ ขอให้ กสทช. เป็นผู้พิจารณา แต่ทาง เอไอเอส หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะให้ลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องต่อไป

          มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 4G ปลายปีนี้ มีหลายรายประกาศเข้าประมูล แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนมี 5 รายคือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอินเตอร์เนต ไร้สายภายใต้แบรนด์ "3BB"

          ด้านผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีที่เรียกว่า "ซิมดับ" หมายถึง ผู้ใช้บริการจะไม่สามารถใช้บริการ ต่อไปได้ หลังสัญญาสัมปทาน สิ้นสุดลง ก่อนหน้านี้กสทช.เคยใช้มาตรการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ดังกล่าว หลังจากสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 โดย กสทช.มีมาตรการเยียวยา เพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้บริการไปดำเนินการโอนย้ายเลขหมายหลังสัมปทานสิ้นสุดลงเป็นระยะเวลา 1 ปี