คอลัมน์ วิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน: ข่าวดีกลุ่มโทรมือถือ

Published on 2015-04-23   By โพสต์ทูเดย์

          บล. เอเซีย พลัส

          นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส คาดว่ากลุ่มผู้ให้บริการมือถือจะได้รับบรรยากาศเชิงบวกต่อกลุ่มกรณี อสมท (MCOT) ของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพราะคลื่นนี้ถือเป็น 1 คลื่นความถี่มาตรฐานสำหรับบริการ 4G ของโลก ซึ่งหากได้คลื่นดังกล่าวกลับคืนมาจาก MCOT จะช่วยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีกำลังให้บริการพร้อมเปิดประมูลเป็นบริการ 4G อีก 60 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกำลังให้บริการจะเปิดประมูลปลายนี้ ซึ่งมีอยู่เพียง 25 เมกะเฮิรตซ์ (เป็นสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของทรู มูฟ และบริษัท ดีพีซี (DPC) (บริษัทย่อยของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่หมดอายุบริการแล้วและจะนำกลับมาเปิดประมูลอีกครั้ง)

          ทั้งนี้ หากสามารถนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ กลับมาประมูลภายในปี 2559 ตามที่ กสทช.คาดหวัง เชื่อว่าจะส่งผลดีช่วยลดการแข่งขันเพื่อประมูลแย่งชิงคลื่นสำหรับบริการ 4G ปลายปีนี้ซึ่งมีเพียง 2 ใบอนุญาต เทียบกับผู้เข้าร่วมประมูลที่คาดว่าจะมีอยู่ 4 ราย คือ ADVANC บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) โดยผู้ที่พลาดหวังยังจะมีโอกาสประมูลอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดจะนำไปสู่ราคาประมูลโดยภาพรวมที่ถูกลง ช่วยลดภาระเงินลงทุนและรายจ่ายของทุกราย แม้มีประเด็นบวกเกี่ยวกับการประมูลคลื่นสำหรับบริการ 4G มากขึ้น แต่ยังมีบางประเด็นลบ การเก็บภาษีสรรพสามิต (เพิ่มหน้า 2) ที่ยังไม่สรุป จึงคงน้ำหนักลงทุน "เท่าตลาด" ทั้งนี้ยังชื่นชอบ ADVANC มูลค่าที่เหมาะสม 285 บาท บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) มูลค่าที่เหมาะสม 113 บาท บริษัทแม่เป็นหุ้นที่แนะนำในฐานะที่ได้ประโยชน์โดยตรงหากพัฒนาการประมูล 4G ไม่ว่าด้านใดมีความคืบหน้า เพราะเป็นรายเดียวที่ยังไม่มีบริการ 4G ผุดแนวคิดเก็บภาษีโทรคมนาคมอัตรา 10% ของ รายได้

          กรมสรรพสามิตเสนอแนวคิดเก็บภาษีโทรคมนาคมอัตรา 10% ของรายได้บนระบบใบอนุญาตของค่ายมือถือ ทั้งนี้แนวคิดนี้เกิดจากระบบให้บริการมือถือที่เปลี่ยนมาเป็นแบบใบอนุญาต จากเดิมที่เป็นสัมปทาน ซึ่งส่งผลให้รัฐได้ส่วนแบ่งรายได้ลดลง เพราะเดิมรัฐมีรายได้ผ่าน ทศท คอร์ปอเรชั่น (TOT) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม (CAT) คู่สัมปทานที่ได้ส่วนแบ่งรายได้ 25-30% ของรายได้ แต่ระบบใบอนุญาต รัฐบาลได้เงินจากการประมูลคลื่นทีเดียว โดยส่วนแบ่งรายได้ที่ค่ายมือถือเสีย 5.25% ของรายได้ และนำส่ง กสทช. (องค์กรอิสระ)

          หากพิจารณาจากที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนภายใต้การให้บริการบนระบบใบอนุญาต (ค่าประมูลคลื่น+ส่วนแบ่งรายได้) เฉลี่ย 7-10% ของรายได้ ซึ่งต่ำกว่าระบบสัมปทานที่เคยต้องจ่าย 25-30% ของรายได้ จะเห็นว่าค่ายมือถือได้ประโยชน์ราว 18-20% ของรายได้ แม้เทียบประโยชน์ภายใต้โครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ใหม่ที่เอกชนได้กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดการเก็บอัตราภาษี 10% ดูสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามความเหมาะสมในการเรียกเก็บ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่ายังมีประเด็นอื่นที่ควรต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย คือ

          ประการแรก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการหลังเปิดให้บริการบนระบบใบอนุญาต ทั้งนี้เพราะประโยชน์ส่วนต่างต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ ทำให้หลังจากเปิดบริการบนระบบใบอนุญาต ผู้ประกอบการทุกรายต่างเร่งโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทาน 2G ไปสู่ใบอนุญาต 3G ซึ่งนำมาสู่ต้นทุนอื่นๆ ที่มากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัย อาทิ ค่าใช้จ่ายโฆษณา รวมไปถึงต้นทุนจากการลงทุนโครงข่าย 3G บนใบอนุญาตใหม่

          นอกจากนี้ ในด้านรายได้ ค่ายมือถือยังต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. ที่ให้ลดค่าบริการลงจากเดิมเฉลี่ย 15% จนทำให้ภาพรวมหากเปรียบเทียบอัตรากำไรสุทธิปกติ (Norm Profit Margin) ก่อนให้บริการภายใต้ใบอนุญาต (2555) กับหลังเปิดให้บริการ (2557F) ขยับขึ้นเพียง 2%

          ประการที่สอง ในปี 2546-2550 รัฐเคยมีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตรา 10% โดยหักออกจากต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ ภายใต้ระบบสัมปทานที่เอกชนต้องจ่าย 25-30% ของรายได้ (10% ส่งตรงเข้ารัฐ ส่วน 15-20% ที่เหลือเป็นของคู่สัมปทาน CAT TOT) แต่ท้ายที่สุดมีการยกเลิกไปในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2550 ภายใต้มติที่ระบุว่า "โทรศัพท์มือถือไม่ใช่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน"

          ประการที่สาม หากพิจารณาจากการเรียกเก็บภาษีครั้งก่อน จะเห็นได้ว่าภาระภาษีนั้นเป็นของ TOT และ CAT (ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่าที่ควร) โดยไม่เคยตกอยู่ที่เอกชน ในครั้งนี้เนื่องจากเอกชนไม่น่าจะสามารถผลักภาระไปให้ผู้รับส่วนแบ่งรายได้ปัจจุบัน คือ กสทช. เพราะ กสทช.เก็บอยู่ที่เพียง 5.25% ของรายได้ จึงมีแนวโน้มสูงที่ภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค