จัสมินตั้งกองทุนรวมบรอดแบนด์-เปิดทางหน้าใหม่ลงสนามแข่ง

Published on 2014-12-01   By ประชาชาติธุรกิจ

          "จัสมิน" ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน "JASIF" หวังกระตุ้นตลาดบรอดแบนด์เปิดทางรายใหม่แจ้งเกิด-ลดลงทุนซ้ำซ้อน ชูจุดแข็งไฟเบอร์ออปติกทั่วประเทศเฉียดแสนกิโลเมตรพร้อมอัพเกรดเทคโนโลยีใหม่ทั้ง ADSL-FTTx

          นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร และกรรมการ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย (ฟิกซ์ไลน์) แม้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายอินเทอร์เน็ต จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ฟิกซ์ไลน์เป็นการเข้าถึงข้อมูลแบบพื้นฐาน และเพิ่มความเร็วได้ง่ายกว่า แต่จากข้อจำกัดเรื่องโครงข่ายและความเข้าใจในเทคโนโลยี ทำให้ตลาดปัจจุบันเข้าถึงการใช้งานได้เพียง 24.6% ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย

          และเพื่อสนับสนุนการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อย่างทั่วถึง บริษัทจึงจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ที่เน้นลงทุนในทรัพย์สินบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก สอดคล้องนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

          สำหรับทรัพย์สินของกองทุน ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในเส้นใยแก้วนำแสง 980,000 คอร์กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นใยแก้วนำแสงไม่น้อยกว่า 800,000 คอร์กิโลเมตร ที่ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ บริษัทย่อยของ JAS ส่งมอบให้ JASIF และเส้นใยแก้วนำแสง รวม 180,000 คอร์กิโลเมตร ที่จะทยอยส่งมอบให้ภายใน 2 ปี

          "กองทุนนี้จะเปิดให้เช่าโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกที่ยาว 9.8 แสนคอร์ กม. ครอบคลุม 77 จังหวัดของประเทศไทย สายสัญญาณทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 4 ปี ทำให้ความเร็วในการให้บริการเสถียร และเชื่อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้ เช่น VDSL หรือไฟเบอร์ทูโฮมได้เน้นให้ผู้เช่ามาเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ช่วยกันให้บริการตามลักษณะการใช้งานของลูกค้าแต่ละพื้นที่"

          ผู้เช่าโครงข่ายหลักยังเป็น บมจ.ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีลูกค้า ณ ไตรมาส 3 ที่ 1.6 ล้านราย เป็นอันดับ 2 แบ่งเป็นเทคโนโลยี ADSL 1.6 ล้านราย และ FTTx 4 หมื่นราย มีการใช้งานสูงสุดในแพ็กเกจ 590 บาท ความเร็ว 10 Mbps ครอบคลุม 6.4 ล้านหลัง ตามหลังกลุ่มทรูอยู่ 3 แสนราย แต่ขึ้นนำทีโอทีที่ลูกค้าลดลงทุกปี ล่าสุดเหลือกว่า 1.6 ล้านราย

          นายพิชญ์กล่าวต่อว่า ในปี 2559 จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่ 35.4% หรือสูงกว่าปัจจุบันเกือบ 10% เมื่อมีกองทุนจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาด ทำให้ตลาดรวมเติบโตได้เร็วขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคใน ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, เกาหลี และญี่ปุ่น มีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 70-99%

          "เรามีส่วนแบ่ง 30% จากผู้ใช้กว่า 5 ล้านราย เราจะพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ 30% เอาไว้ให้ได้"